“ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามการดำเนินการของกรมบังคับคดีกับ นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี ซึ่งสะท้อนภาพบทบาทหลักในการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลทั้ง บังคับคดีแพ่ง บังคับคดีล้มละลาย โดยปริมาณ “บังคับคดีแพ่ง” ในปีงบประมาณ 2566 มีสถิติยึดอายัดและขายทอดตลาดประมาณ 586,000 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์ประมาณ 900,000 ล้านบาท

ส่วน “คดีล้มละลาย” มีกว่า 52,000 คดี ทุนทรัพย์ประมาณ 7.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ “คดีฟื้นฟูกิจการ” ของลูกหนี้มี 1,932 คดี ทุนทรัพย์ประมาณ 795,000 ล้านบาท

ขณะที่ปีงบประมาณ 2567 เนื่องจากยังไม่ครบปี จึงมีคดีคงค้างประมาณ 588,000 เรื่อง ทุนทรัพย์ประมาณ 1 ล้านล้านบาท มี “คดีล้มละลาย” ประมาณ 52,967 คดี ราคาประเมิน 7.7 ล้านล้านบาท ถือว่าค่อนข้างสูง ส่วน “คดีฟื้นฟูกิจการ” ของลูกหนี้ ค้างอยู่ประมาณ 1,458 คดี

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสถิติคดีทางแพ่งที่อยู่ในชั้นการบังคับคดีจะมีเฉลี่ย 600,000 คดี นอกจากนี้ ยังมีคดีที่ยังไม่ได้ยึดทรัพย์ เพราะมีทั้งก่อนฟ้องและหลังฟ้อง ส่วนหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วจะเป็นตัวเลขอีกกลุ่ม โดยส่วนที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วและมี “หมายบังคับคดี” แจ้งมา แต่ยังไม่มีการยึดทรัพย์ ตัวเลขราคาประเมินอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านล้านบาท (คิดเป็นจำนวนกว่า 2.6 ล้านราย) แม้ตัวเลขหนี้ค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นเพียงตัวเลขที่ยังไม่ได้บังคับคดี

ทั้งนี้ จำนวนคดีที่เข้ามาในระบบ ตนมองว่าปริมาณมากขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 10-12 ปัญหาหลักคือยังมี “หนี้ก้อนโต” ที่ยังไม่มีตัวเลขคือ หนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และการผิดนัดชำระหนี้ เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนฟ้อง ยังไม่ได้บังคับคดี

“ยอดตรงนี้จะเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่เข้ามาในอนาคตช่วงปีนี้ถึงปลายปี ก็ต้องรอดูตัวเลขประเมินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันศาลพยายามไกล่เกลี่ยและใช้กระบวนการหลายอย่าง รวมถึงภาครัฐก็ออกนโยบาย มาตรการ หรือโปรโมชั่นช่วยเหลือ ลด ชะลอ ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระ”

ส่วนวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศจะส่งผลต่อปริมาณคดีหรือไม่ นายเสกสรร มองว่าบังคับคดีคือหน่วยงานสุดท้ายที่จะบอกได้ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ เพราะหากเศรษฐกิจดีปริมาณคดีจะน้อย หากเศรษฐกิจไม่ดีปริมาณคดีในระบบจะเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันแม้ตัวเลขยังไม่มาก แต่ก็ไม่ละเลยจำนวนหนี้ที่อยู่ระหว่าง “ชะลอฟ้อง” ซึ่งรัฐบาลออกมาตรการดูแล เพื่อให้ผ่านวิกฤติไปได้

สำหรับข้อกังวลที่ต้องรับมือและแก้ไขปัญหา ซึ่งในระบบมีคดีต้องดำเนินการกว่า 600,000 คดี วิธีปกติที่ทำคือ การยึดทรัพย์และขายทอดตลาด แต่การขายทอดตลาดในปัจจุบันต้องยอมรับว่ายอดขายไม่ได้สูงมาก ผู้ที่จะซื้อทรัพย์สินเหล่านี้ก็ขอสินเชื่อค่อนข้างยาก รวมถึงลูกค้าที่เข้ามาซื้อมักเป็นสถาบันการเงินมากกว่านิติบุคคล หรือบุคคลทั่วไป

“เข้าใจบริบทว่าการขายทอดตลาดแต่ละรายการต้องใช้เวลา และมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อแก้ปัญหา จากเน้นขายทอดตลาดก็ใช้วิธีการไกล่เกลี่ย ซึ่งดำเนินการมาตลอด 2-3 ปี เพื่อให้โอกาสเจรจาประนอมหนี้ ไม่มีใครเสียเปรียบใคร ลูกหนี้ไม่ต้องสูญเสียทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ได้รับการผ่อนชำระหนี้ระยะยาว มีการหารือปรับโครงสร้างชำระตามเหมาะสม และแม้ยึดทรัพย์ไว้แล้ว แต่ถ้าไกล่เกลี่ยได้ ทรัพย์สินลูกหนี้ก็ไม่ถูกขาย เพราะตั้งใจให้โอกาส ซึ่งตนมองว่าเป็นประโยชน์ทุกฝ่ายมากกว่า”

สำหรับภาพรวมการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 ได้มูลค่าประมาณ 70,243 ล้านบาท ส่วนปี 2567 ได้มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาทแล้ว อย่างไรก็ตาม มูลค่าขายทอดตลาดทรัพย์ที่เข้ามาแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท ยังเป็นเพียงตัวเลขต้นปี ตนมั่นใจว่าตลอดทั้งปีนี้ มีความเป็นไปได้ที่อาจได้มูลค่าถึง 70,000 ล้านบาท

“บังคับคดีมีเป้าหมายทำให้ทะลุถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้จะรวมในส่วนการถอนการยึด งดการบังคับคดี และการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนั้น มูลค่าเฉลี่ยการขายทอดตลาดทรัพย์สินของกรมบังคับคดีจะอยู่ที่ประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท” นายเสกสรร ระบุทิ้งท้าย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]