ผู้ที่มีความผิดปกติอย่างน้อย 3 ใน 5 อย่างดังต่อไปนี้ ถือว่ามีภาวะเมแทบอลิกซินโดรม ได้แก่

                1. มีภาวะอ้วนลงพุง (รอบเอวเท่ากับหรือมากกว่า 90 ซม.ในผู้ชาย และ 80 ซม.ในผู้หญิง)

                2. มีความดันโลหิตเท่ากับหรือมากกว่า 130/85 มม.ปรอท หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูง

                3. มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหารเท่ากับหรือมากกว่า 100 มก/ดล หรือเป็นเบาหวาน

                4. มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) เท่ากับหรือมากกว่า 150 มก/ดล หรือกินยาลดไขมัน

                5. มีระดับไขมัน HDL-C น้อยกว่า 40 มก/ดล ในผู้ชาย และน้อยกว่า 50 มก/ดล ในผู้หญิง ผู้ที่มีภาวะเมแทบอลิกซินโดรมมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ความชุกของเมแทบอลิกซินโดรม

จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยครั้งที่ 6 พ.ศ.2562-2563 โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์วิชัย เอกพลากรและคณะ ความชุกของเมแทบอลิกซินโดรมในประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีร้อยละ 25.1 พบความชุกในผู้หญิง (ร้อยละ 27.7) มากกว่าในผู้ชาย (ร้อยละ 22.5) ความชุกของเมแทบอลิกซินโดรมจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น และพบสูงสุดในช่วงอายุ 70 – 79 ปี

เมื่อพิจารณาความชุกของปัจจัยเสี่ยงแต่ละชนิด พบว่าความชุกของภาวะอ้วนลงพุงในประชากรไทยมีร้อยละ 39.4 โดยพบในผู้หญิงมากกว่ากว่าผู้ชายในทุกกลุ่มอายุ ภาวะอ้วนลงพุงโดยรวมเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นและสูงสุดในช่วงอายุ 60 – 69 ปี ในณะที่ความชุกของผู้ที่ผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหารระหว่าง 100 – 125 มก./ดล. ( impaired fasting plasma glucose) อยู่ที่ร้อยละ 10.7 ผู้ชายมีความชุกสูงกว่าผู้หญิงในทุกกลุ่มอายุ และความชุกเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ความชุกของความดันโลหิตสูงพบร้อยละ 25.4

ผู้ชายมีความชุกสูงกว่าผู้หญิง ความชุกต่ำสุดในกลุ่มอายุ 15 – 29 ปี (ร้อยละ 5.1 ในชาย และร้อยละ 1.4 ในหญิง) จากนั้นเพิ่มขึ้นตามอายุและสูงสุดในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป ความชุกของภาวะ HDL-C ต่ำ  มีร้อยละ 25.9 พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (ผู้ชายร้อยละ 18.7 และผู้หญิงร้อยละ 32.7) ความชุกของภาวะ HDL-C ต่ำ เพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ความชุกของภาวะไตรกลีเซอไรด์สูงพบร้อยละ 36.0 พบความชุกในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิง (ร้อยละ 41.6 และ 30.7 ตามลำดับ)

อุบัติการณ์ของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองของประชากรไทยสูงขึ้นตามจำนวนปัจจัยเสี่ยง ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยในคนเดียวกัน มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจำนวนน้อยกว่า เนื่องจากความชุกของปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุ ดังนั้นอุบัติการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดจึงพบสูงขึ้นอย่างมากในผู้สูงอายุ

ข้อมูลจาก  วิชัย เอกพลากร, (บก.), รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562 – 2563 และ ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ

                                                                                นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่