องค์กรไม่แสงหาผลกำไร “มีเดีย แมตเทอร์ส” รายงานว่า ผู้ใช้ติ๊กต็อกจำนวนมาก พยายามสร้างรายได้จากคลิปวิดีโอที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ซึ่งกล่าวอ้างอย่างไม่มีมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า รัฐบาลสหรัฐแอบจับ หรือเก็บสัตว์ประหลาดในตำนานต่าง ๆ เช่น คิงคอง

กรณีดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างล่าสุดของการให้ข้อมูลอย่างผิด ๆ บนติ๊กต็อก ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในการหารือนโยบายเมื่อไม่นานมากนี้ ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐ กำลังพิจารณาแบนแพลตฟอร์มนี้ ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ

คลิปวิดีโอเหล่านี้ ซึ่งหลายคลิปมียอดดูหลายล้านครั้ง มักมาพร้อมกับดนตรีประกอบที่น่าขนลุก และมีเสียงที่ถูกสร้างขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งบางครั้งเป็นการเลียนเสียงดาราคนดัง โดยนอกจากเนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์ประหลาด บางคลิปวิดีโอก็พูดถึงดาวเคราะห์น้อยที่จะพุ่งชนโลก และอ้างว่ามันเป็นข้อมูลลับที่ไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน

“คลิปวิดีโอทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งมักจะถูกโพสต์โดยบัญชีนิรนาม มีสิ่งที่บ่งชี้ถึงภาพที่สร้างโดยเอไอ เช่น นิ้วที่เพิ่มขึ้น และการผิดรูป” น.ส.แอบบี้ ริชาร์ดส์ นักวิจัยข้อมูลเท็จในติ๊กต็อก กล่าว “การขายทฤษฎีเช่นนี้ สามารถทำเงินได้ด้วย “โปรแกรมความคิดสร้างสรรค์” ของติ๊กต็อก ที่ออกแบบมาเพื่อจ่ายเงินให้กับผู้สร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม”

ริชาร์ดส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “อุตสาหกรรมในครัวเรือน” ของคลิปวิดีโอทฤษฎีสมคบคิด ที่ขับเคลื่อนโดยเครื่องมือเอไอต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชันแปลงข้อความเป็นเสียง ซึ่งมีให้เลือกใช้อย่างแพร่หลายและเสรี ในโลกออนไลน์

อย่างไรก็ตาม โฆษกหญิงของติ๊กต็อก ยืนกรานว่า ทฤษฎีสมคบคิดไม่มีสิทธิได้รับเงิน หรือถูกแนะนำในฟีดของผู้ใช้งาน เนื่องจากการให้ข้อมูลเท็จที่เป็นอันตราย ถือเป็นสิ่งต้องห้าม และทีมรักษาความความปลอดภัยของบริษัท ทำการลบข้อมูลข้างต้นออกไป 95% ก่อนที่จะมีการรายงานด้วย

“เนื้อหาที่มีแรงจูงใจทางการเงิน ซึ่งมีความน่าดึงดูดสูง และมีต้นทุนการผลิตต่ำ สร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ทฤษฎีสมคบคิดได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย” ริชาร์ดส์ ระบุในรายงานของมีเดีย แมตเทอร์ส

สหภาพยุโรป (อียู) ใช้กฎหมายการให้บริการดิจิทัล (ดีเอสเอ) เพื่อกดดันแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงติ๊กต็อก เกี่ยวกับความเสี่ยงของเอไอ ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ประเทศซึ่งมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันนี้ประมาณ 170 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศ ลงมติสนับสนุนกฎหมายแบนติ๊กต็อก ปูทางสู่การปิดกั้นการเข้าถึงภายในอเมริกา หากไบต์แดนซ์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของติ๊กต็อก และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในจีน ไม่ถอนการลงทุนภายใน 6 เดือน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES