ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในกระแสที่น่าสนใจก็คือ “ความนิยมของซอสพริก” ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ที่กระแสความนิยมซอสพริกนี้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการที่ผู้บริโภคอเมริกันนำซอสพริกดังกล่าวไปดัดแปลงปรุงอาหาร ที่ผู้ประกอบการไทยควรนำมาใช้เป็นกรณีศึกษา โดยวันนี้คอลัมน์นี้ก็มีข้อมูลมาให้พิจารณากัน…

รายละเอียดเรื่องนี้ เป็นข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก (สคต.ชิคาโก) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่เผยแพร่อยู่ใน www.ditp.go.th โดยระบุว่า ในช่วงหลายปีมานี้ กระแสความนิยมของซอสพริกขยายตัวเพิ่มขึ้นในผู้บริโภคชาวอเมริกัน โดยมาจากซอสพริกที่ชื่อแบรนด์ Huy Fong Foods ซึ่งก่อตั้งโดยชาวเวียดนามในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เริ่มต้นกิจการด้วยการผลิตซอสพริกจำหน่ายให้ผู้ประกอบการร้านอาหารแนวเอเชีย และร้านเฝอในสหรัฐฯ จนทำให้ซอสพริกดังกล่าวเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และยิ่งเป็นกระแสเมื่อผู้บริโภคชาวอเมริกันนำซอสพริกชนิดนี้ไปดัดแปลงปรุงเป็นอาหารมากขึ้น ประกอบกับผู้บริโภควัยรุ่นอเมริกันที่มีพฤติกรรมชอบทดลองสิ่งใหม่ ๆ ก็ยิ่งทำให้ความนิยมซอสพริกดังกล่าวขยายตัวมากขึ้น จนมีผู้ประกอบการนำซอสพริกนี้ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมากมายเพื่อตอบสนองความต้องการจากกระแสของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี แต่ช่วงกลางปี 2566 ซอสพริกแบรนด์ Huy Fong เกิดปัญหาขาดตลาดจากภัยแล้ง ทำให้ขาดแคลนพริกที่ใช้เป็นวัตถุดิบ จนราคาขายปลีกสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารหันไปซื้อซอสพริกแบรนด์อื่นที่มีราคาถูกกว่ามาทดแทน

ทั้งนี้ วิกฤติที่เกิดขึ้นของซอสพริกแบรนด์นี้ นับเป็นโอกาสดีผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาหาช่องทางแข่งขันเพื่อแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดซอสพริกในตลาดสหรัฐได้ โดย สคต.ชิคาโก ได้แนะนำผู้ประกอบการไทยว่า ปัญหาขาดแคลนสินค้าซอสพริกในสหรัฐฯ ตอนนี้ น่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากผู้ประกอบการของไทย “มีจุดแข็งโดดเด่น” เช่น มีความเชี่ยวชาญการผลิตสินค้าที่สามารถปรับรสชาติได้ตามความต้องการของผู้บริโภค สามารถผลิตสินค้าให้ได้ราคาที่เหมาะสมจึงสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าน้ำจิ้มไก่ (Sweet Chili Sauce) ก็เป็นอีกสินค้ากลุ่มซอสพริกของไทยที่มีโอกาสขยายตัว ที่ผู้ประกอบการไทยน่าจะมีจะช่องทาง

อย่างไรก็ตาม แต่ “สิ่งที่ต้องพัฒนา” ก็คือ 1.ควรเพิ่มการให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ 2.ควรมีการวางแผนการตลาดที่เหมาะสม 3.ควรหาโอกาสพบปะเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าที่มีศักยภาพในตลาด ซึ่งถ้าทำได้ผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอีไทยก็น่าจะมีโอกาสไม่ใช่น้อย.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]