อนึ่ง ไนเจอร์เป็นฐานสำคัญ สำหรับปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายในแอฟริกาตะวันตก อีกทั้งยังมีฐานทัพโดรนของสหรัฐ ใกล้กับเมืองอากาเดซ ทางตอนเหนือของประเทศ ที่ใช้งบประมาณก่อสร้างสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,632 ล้านบาท)

นับตั้งแต่ปี 2562 กองทัพสหรัฐใช้โดรนและเครื่องบิน เพื่อปฏิบัติภารกิจตรวจตราจากฐานทัพอากาศ บริเวณชานเมืองอากาเดซ ซึ่งภารกิจดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ซึ่งมีกลุ่มติดอาวุธดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะนักรบจีฮัด และนอกจากการต่อต้านการก่อการร้าย สหรัฐก็ยังรับมือเรื่องการค้ายาเสพติด มนุษย์ และอาวุธด้วย

กระนั้น ไนเจอร์เรียกร้องให้สหรัฐถอนทหารออกจากประเทศ หลังรัฐบาลวอชิงตัน แสดงความกังวลเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้” ระหว่างไนเจอร์กับรัสเซีย และอิหร่าน

แม้การรัฐประหาร และการแยกตัวออกมาจากชาติตะวันตกในเวลาต่อมาของไนเจอร์ ซึ่งแสดงถึงการสนับสนุนรัสเซีย ตามมาด้วยความเคลื่อนไหวที่คล้ายคลึงกันในประเทศเพื่อนบ้านอย่างบูร์กินาฟาโซ และมาลี แต่ตำแหน่งของไนเจอร์ ในฐานะผู้ผลิตยูเรเนียมรายใหญ่อันดับ 7 ของโลก มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์

ทั้งนี้ ทหารสหรัฐที่ประจำการในไนเจอร์ คาดว่ามีประมาณ 650 นาย ในช่วงสิ้นปี 2566 รวมถึงทหารรับจ้างอีกหลายร้อยนาย ซึ่งกองทหารบางส่วนประจำการอยู่ที่ฐานทัพอากาศในกรุงนีอาเม ร่วมกับกองกำลังต่างชาติอื่น ๆ เช่นเดียวกับที่ฐานทัพสหรัฐ ในเมืองอากาเดซ

สำหรับการย้ายกองทหารบางส่วนจากกรุงนีอาเม ไปยังฐานทัพในเมืองอากาเกซ สหรัฐระบุว่าเป็น “มาตรการป้องกันไว้ก่อน” หลังไนเจอร์เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร

สหรัฐจัดหายุทโธปกรณ์ให้แก่ไนเจอร์มาตั้งแต่ปี 2505 หลังไนเจอร์ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ซึ่งการส่งมอบอาวุธและความช่วยเหลือทางทหารที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ยานพาหนะติดอาวุธ, การเฝ้าระวัง และเครื่องบินขนส่งทางทหาร ไปจนถึงศูนย์การสื่อสารและการส่งสัญญาณ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับนักรบจีฮัด

ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพไนเจอร์ยังสามารถเข้าถึงโครงการความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของสหรัฐ ซึ่งให้ทุนเพื่อการศึกษาและการฝึกอบรมบุคลากรทหารต่างชาติ นับตั้งแต่ปี 2523 เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของประชาชนชาวไนเจอร์ ไม่ลงรอยกับการมีอยู่ของกองกำลังต่างชาติมาเป็นเวลานานแล้ว โดยผลการสำรวจเมื่อปี 2565 พบว่า ชาวไนเจอร์ประมาณ 2 ใน 3 ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลนีอาเม ใช้กองกำลังทหารต่างชาติเพื่อป้องกันรักษาประเทศ

“ชาวอเมริกันอยู่บนแผ่นดินของเรา โดยไม่ทำอะไรเลย ขณะที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายสังหารผู้คน และเผาบ้านเมือง” นายอาลี มาฮามัน ลามีน แซน นายกรัฐมนตรีไนเจอร์ ซึ่งคณะรัฐประหารแต่งตั้ง และผู้นำการเจรจากับสหรัฐ กล่าว.

เลนซ์ซูม