แม้เวลาจะผ่านและล่วงเลยไปถึง 51 ปีแล้ว แต่ชื่อของพระเอกหนังไทยคนดังอย่าง “มิตร ชัยบัญชา” กลับไม่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา หากแต่ยังคงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของหนังไทยที่คนรุ่นก่อนยังคงจดจำไม่ลืมเลือน ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่สนใจเกี่ยวกับหนังไทยก็พยายามค้นหาข้อมูลและเรื่องราวของพระเอกคนนี้ว่าทำไมถึงมีอิทธิพลและยังคงเป็นที่รักของแฟนๆ ได้นานจนถึงทุกวันนี้

วันนี้ yimyim จะพาทุกคนไปย้อนรำลึกถึงประวัติและเหตุผลที่คนรักพระเอกตลอดกาลอย่าง มิตร ชัยบัญชา กันแล้ว เราเชื่อว่าคุณจะเป็นอีกหนึ่งคนที่หลงรักเขา

ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสวันครบรอบการเสียชีวิต 51 ปีของ มิตร ชัยบัญชา (8 ต.ค.64) เราจึงขอชวนแฟนๆ เดลินิวส์ออนไลน์ ทุกคนมาย้อนรำลึกถึงประวัติและผลงานของพระเอกคนนี้กัน มิตร ชัยบัญชา เกิดวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2477 มีชื่อจริงว่า พันจ่าอากาศโท พิเชษฐ์ ชัยบัญชา (นามสกุลเดิมพุ่มเหม) เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงปลาย พ.ศ. 2499 เป็นพระเอกภาพยนตร์ไทยในช่วง พ.ศ.2500-2513 ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ 16 มม. มีผลงานนับได้ขณะนั้น 266 เรื่อง จากทั้งสิ้น 300 กว่าเรื่องที่นำแสดง
           
โดยผลงานเรื่องแรกของมิตรคือเรื่อง “ชาติเสือ” บทประพันธ์ของ เศก ดุสิต ซึ่งในเรื่องนี้มิตรได้ประกบกับนางเอกที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นถึง 6 คน ได้แก่ เรวดี ศิริวิไล, นัยนา ถนอมทรัพย์, ประภาศรี สาธรกิจ และ น้ำเงิน บุญหนัก ซึ่งภาพยนตร์ทำรายได้กว่าแปดแสนบาท ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมากของสมัยนั้น ทำให้ชื่อของมิตร ชัยบัญชา เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น จากนั้นมิตรโด่งดังเป็นอย่างมากจากบท โรม ฤทธิไกร หรือ อินทรีแดง ในภาพยนตร์เรื่อง “จ้าวนักเลง” ซึ่งเป็นบทที่มิตร ชัยบัญชา ต้องการแสดงเป็นอย่างมากหลังจากได้อ่านหนังสือ จนทีมผู้สร้าง ชาติเสือ ตัดสินใจไปพบ เศก ดุสิต พร้อม มิตร ชัยบัญชา เพื่อขอซื้อเรื่องมาทำเป็นภาพยนตร์ เศก ดุสิต พูดต่อมิตร ชัยบัญชา ว่า “…คุณคืออินทรีแดงของผม…” ซึ่งภาพยนตร์ทำรายได้มากและมีภาพยนตร์ภาคต่อหลายเรื่อง ต่อมามีภาพยนตร์สร้างชื่อเสียงให้มิตรอีกหลายเรื่อง เช่น “เหนือมนุษย์”,  “แสงสูรย์”,  “ค่าน้ำนม”, “ทับสมิงคลา” เป็นต้น

มิตร ชัยบัญชา มีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ จากบทบาทการแสดงที่ประชาชนชื่นชอบและจากวินัยที่ดีในการทำงาน รวมถึงนิสัย และอัธยาศัยต่อเพื่อนร่วมงาน มิตรเป็นพระเอกดาวรุ่งที่โด่งดังอยู่ เมื่อแสดงภาพยนตร์คู่กับ เพชรา เชาวราษฎร์ นางเอกใหม่เรื่อง “บันทึกรักของพิมพ์ฉวี” เป็นเรื่องแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ภาพยนตร์ออกฉาย พ.ศ. 2505 จากนั้นมิตรเริ่มก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งพระเอกอันดับ 1 ของประเทศ ที่เป็นที่รักของประชาชน ต่อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ได้แสดงภาพยนตร์คู่กับเพชรามากขึ้น และเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จึงเป็นคู่ขวัญได้แสดงภาพยนตร์คู่กันมากที่สุดตลอดมา รับบทคู่รักในภาพยนตร์ ประมาณ 200 เรื่อง จนแฟนภาพยนตร์เรียกว่า มิตร-เพชรา (แฟนหนังบางส่วนเข้าใจผิดว่ามิตร นามสกุล เพชรา) มีแฟนภาพยนตร์จำนวนมากที่ชื่นชอบในตัวมิตร ถึงขนาดว่าถ้าไม่มีชื่อมิตรแสดงก็เดินทางกลับ ไม่ดูหนัง ทั้งที่เดินทางมาไกลแค่ไหนก็ตาม

จากนั้นในปี พ.ศ. 2506 ภาพยนตร์เรื่อง “ใจเพชร” ทำรายได้สูงสุดและมีภาพยนตร์ที่ทำรายได้เกินล้านอีกหลายเรื่อง โดยเมื่อ พ.ศ. 2508 มิตรได้รับพระราชทานรางวัล “โล่เกียรตินิยม” นักแสดงนำชายที่ทำรายได้สูงสุด จากภาพยนตร์เรื่อง “เงิน เงิน เงิน” ซึ่งทำรายได้เป็นประวัติการณ์ ต่อมา พ.ศ. 2509 ภาพยนตร์เรื่อง “เพชรตัดเพชร” ทำรายได้ทำลายสถิติ เงิน เงิน เงิน ได้ 3 ล้านบาทในเวลา 1 เดือน และรับพระราชทาน รางวัลดาราทอง จากคุณสมบัติหลัก 4 ประการ คือ ศรัทธา หน้าที่ ไมตรี และ น้ำใจ ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของผู้รับรางวัล

ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” เป็นภาพยนตร์เพลงลูกทุ่งของมิตรและเพชรา ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้มากกว่า 6 ล้านบาท และยืนโรงได้นานกว่า 6 เดือนในกรุงเทพฯ ทำรายได้ทั่วประเทศ กว่า 13 ล้านบาท ซึ่งยิ่งทำให้เวลานั้นไม่มีพระเอกคนไหนจะฮอตและเป็นที่นิยมได้มากเท่ากับ มิตร ชัยบัญชา อีกแล้ว แต่แล้วหัวใจของแฟนๆ หนังไทยที่รักมิตร รวมถึงเพื่อนพ้องในวงการก็ต้องตกใจและช็อกสุดขีดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 มิตร ชัยบัญชา ได้เสียชีวิตลงขณะถ่ายทำฉากโหนบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์ จากภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีทอง” ท่ามกลางความอาลัยของมหาชน ที่ต่างพากันเสียดาย เสียใจที่พระเอกคนดังต้องจากแฟนหนังของเขาไปตลอดกาล

ทั้งนี้ จากผลการชันสูตรศพยืนยันว่าเขาเสียชีวิตทันทีเพราะร่างกายแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี เชือกบาดข้อมือเป็นแผลลึก 2 ซม. ยาว 8 ซม. กระดูกขากรรไกรข้างขวาหัก กระดูกโหนกแก้มซ้ายขวาหัก มีเลือดออกทางหูขวา กระดูกซี่โครงขวาหัก 5 ซี่ กระดูกโคนขาขวาหัก กระดูกต้นคอหัก โดยเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 16.13 น. ต่อมาในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2513 หนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับพาดหัวข้อข่าวการตายของเขา ซึ่งกระจายข่าวไปถึงญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน ด้วย โดยศพของ มิตร ชัยบัญชา ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดแคนางเลิ้ง มีประชาชนหลั่งไหลเข้าไปร่วมงาน แต่ประชาชนบางส่วนยังไม่เชื่อว่ามิตรได้เสียชีวิตแล้ว ต่างภาวนาว่าไม่ใช่เรื่องจริง ทำให้ทางวัดไม่มีทางเลือกที่จะทำให้ความเชื่อของพวกเขาไม่เป็นความจริง จึงยกร่างไร้วิญญาณของเขา ให้ได้เห็นกับตาทางหน้าต่างเพื่อให้ทุกคนเห็น ซึ่งก็สร้างความโศกเศร้าให้กับแฟนหนังอย่างมาก

ต่อมาได้มีการพระราชทานเพลิงศพย้ายจากวัดแคนางเลิ้งไปวัดเทพศิรินทร์ เนื่องจากมีประชาชนไปร่วมส่งมิตรจำนวนมากถึงสามแสนคน จนทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่า “นี่เป็นงานศพของสามัญชนที่มีผู้ไปร่วมงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว”

จริงๆ หากจะให้บอกถึงเหตุผลที่คนรักและชื่นชอบมิตร ชัยบัญชา มากขนาดนี้ หลายคนที่ไม่ได้ศึกษาประวัติของเขาอย่างจริงจังหรือไม่รู้จักกับคนที่เคยใกล้ชิดกับเขา ก็อาจจะคิดกันได้ว่าเป็นการ “กล่าวเกินจริง” ไปหรือไม่ กับอุปนิสัยส่วนตัวของเขาที่คนรักมากขนาดนี้และชื่อของเขาที่เป็น “อมตะ” จนวันนี้ แต่ถ้าคุณลองไปสอบถามคนที่เคยรู้จักเขา และได้ร่วมงานกัน คุณจะรู้ว่าเขาคือต้นแบบของนักแสดงที่ดีและน่าเอาเยี่ยงอย่าง ทั้งเรื่องของวินัยในการทำงาน ความเป็นสุภาพบุรุษ ความมีน้ำใจและโอบอ้อมอารี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลายคนสัมผัสได้ และพากันพูดถึงเขาจนมาถึงปัจจุบัน

นอกเหนือจากบทบาทของการเป็นเพื่อนร่วมงานและนักแสดงที่ดีแล้ว มิตร ชัยบัญชา ยังถือเป็นบุคคลสำคัญที่เปรียบเสมือนรากฐานของวงการหนังไทย ที่ทำให้หนังไทยมั่นคงมาจนถึงวันนี้ และผลงานของเขาก็เป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงใจและมอบความสุขให้กับแฟนๆ ของเขา จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต เขาก็ได้มอบร่างกายและจิตวิญญาณของเขาไว้กับหนังไทย เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับแฟนๆ ที่รักเขาตลอดกาล


คอลัมน์            “1 Day With ซุปตาร์”
โดย                  “yimyim”
ขอขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ และ วิกิพีเดีย