รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี สุภาษิตนี้ เชื่อว่าคนไทยคุ้นหูกัน และบางบ้านก็ยังนำมาใช้เพื่อสั่งสอนลูกหลาน บางคนนำมาปรับใช้กับการเลี้ยงสัตว์เพราะรักสัตว์เลี้ยงเหมือน ๆ กับลูก แต่ความจริงแล้ว การตีเป็นบทลงโทษที่เหมาะสมจริงหรือเปล่า ยกตัวอย่าง น้องแมวที่ขึ้นชื่อเรื่องความซน และเป็นจอมป่วนของหลาย ๆ บ้าน วันนี้จึงมาขอความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ช่วยคลายข้อสงสัย

ผศ.สพ.ญ.ดร.จุฑามาส เบ็ญจนรัตน์

ผศ.สพ.ญ.ดร.จุฑามาส เบ็ญจนรัตน์ อาจารย์ประจำคลินิกพฤติกรรม โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ และอาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่า การลงโทษน้องแมวด้วยการตี จะมีโอกาสทำให้น้องแมวมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารักเพิ่มขึ้นได้ เพราะว่าการลงโทษอาจทำให้น้องแมวเกิดความหวาดกลัว หรือความหวาดระแวงมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปสู่พฤติกรรมความก้าวร้าว

อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าของพบว่าน้องแมวมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ต้องลองพิจารณาดูก่อนว่า พฤติกรรมที่เขาทำนั้น เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของเขาหรือเปล่า ถ้าเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของเขา อย่างเช่น การฝนเล็บกับเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรม ที่แมวจะทำ เพื่อดูแลเล็บของเขา รวมไปถึงเป็นการทำสัญลักษณ์บอกอาณาเขต ถ้าน้องแมวทำพฤติกรรมเหล่านี้ แล้วเจ้าของไปลงโทษด้วยการตี จะยิ่งทำให้น้องแมวเกิดความสับสน เพราะในความรู้สึกของเขา มันเป็นสัญชาตญาณที่เขาจะต้องทำ เขาจะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทำไม่ได้ เมื่อน้องแมวเกิดความสับสนมากขึ้น ก็จะมีความเครียดตามมา ส่งผลให้เกิดปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ตามมาได้ สิ่งที่เจ้าของจะสามารถทำได้ คือการหาอุปกรณ์ สำหรับการฝนเล็บเตรียมไว้ให้น้องแมว

ส่วนพฤติกรรมการวิ่งไล่กัดงับมือเท้าเจ้าของ ซึ่งจะพบได้ในน้องแมววัยเด็กที่ต้องการเล่นซนตามธรรมชาติของเขา ซึ่งถ้าตีก็จะทำให้เกิดความสับสนและความเครียดตามมาเช่นกัน ในส่วนนี้ เจ้าของสามารถ ช่วยลดปัญหาได้ โดยการหาของเล่นให้เขา และจัดสรรหาเวลาเล่นกับน้องแมวมากขึ้น ส่วนเวลาเล่นกับน้องแมวหมอจะไม่แนะนำ ให้ใช้มือ หรือเท้าเล่นกับเขา เพราะจะทำให้เขาคิดว่ามือกับเท้าของเราเป็นของเล่น และจะยิ่งชอบกัดมือกับเท้าของเรามากขึ้น ตอนเด็ก ๆ เจ้าของอาจจะรู้สึกไม่เป็นปัญหา แต่พอน้องแมวโตขึ้น ฟันคมมากขึ้น เจ้าของก็จะเริ่มไม่อยากให้เขาทำ แต่เมื่อเจ้าของเคยปล่อยให้กัด น้องแมวก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมกัดไม่ได้แล้ว ดังนั้น เวลาเล่นกับน้องแมว ควรใช้ของเล่นเท่านั้น อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติ คือการพ่นปัสสาวะออกมาตามบริเวณต่าง ๆ จะพบได้ในน้องแมวตัวผู้ที่ยังไม่ทำหมัน เป็นการแสดงอาณาเขตตามธรรมชาติ การตีน้องแมวก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เช่นกัน วิธีการแก้ไขคือ การนำน้องแมวไปทำหมัน

ในกรณีที่น้องแมวมีปัญหาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พฤติกรรมตามธรรมชาติ วิธีแก้ไขก็ต้องย้อนดูสาเหตุ ตัวอย่างเช่น อยู่ดี ๆ น้องแมวไม่ยอมใช้กระบะทรายเหมือนที่เคยใช้ตามปกติ ปัญหานี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากความสะอาดของกระบะทราย หรือ มีการเปลี่ยนแปลงชนิดของทราย เมื่อทำความสะอาดแล้ว หรือเปลี่ยนกลับมาใช้ทรายชนิดเดิม น้องแมวก็จะกลับไปใช้กระบะทรายเหมือนเดิม สาเหตุอื่น ๆ อาจมาจากความเครียดที่มีการเปลี่ยนแปลงภายในบ้าน เจ้าของต้องสังเกตว่า อะไรเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความเครียด ก็ต้องไปแก้ที่จุดนั้น ในบางครั้ง ปัญหาพฤติกรรมอาจเกิดจากอาการป่วยทางร่างกาย ในตัวอย่างเดียวกัน ที่น้องแมวไม่ใช้กระบะทราย อาจจะเกิดความผิดปกติของระบบขับถ่ายซึ่งในจุดนี้ เจ้าของต้องพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์ เพื่อรักษาอาการป่วยให้หาย ปัญหาพฤติกรรมจึงจะหายไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้องแมวมีได้หลากหลาย ซึ่งหมอคงไม่สามารถกล่าวได้หมดตรงนี้ ถ้าเจ้าของมีข้อสงสัย สามารถพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์ เพื่อปรึกษาเพิ่มเติมได้

โดยธรรมชาติของน้องแมว เราสามารถฝึกให้เขาทำตามคำสั่งได้ ความยากง่ายจะขึ้นอยู่กับน้องแมวแต่ละตัวและไม่ง่ายเท่ากับการฝึกน้องสุนัข การฝึกให้ทำตามคำสั่งโดยทั่วไปแล้ววิธีที่ถูกต้อง คือการให้รางวัลเมื่อเขาทำพฤติกรรมที่เราอยากให้ทำ โดยรางวัลอาจเป็นขนม หรือคำชม แต่โดยส่วนใหญ่แล้วขนมจะเป็นรางวัลที่เป็นแรงจูงใจที่ดีที่สุด ในน้องแมวที่ชอบกินขนม ก็จะสามารถฝึกได้ง่ายกว่าน้องแมวที่ไม่ค่อยชอบกินขนม ถ้าเจ้าของต้องการฝึก ควรงดให้ขนมในเวลาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เวลาฝึก จะทำให้ขนมเป็นแรงจูงใจที่ดีขึ้น

สำหรับผู้เลี้ยงน้องแมวมือใหม่ หมอก็อยากจะให้พยายามหาข้อมูลศึกษาพฤติกรรมตามปกติของเขาและเพื่อจะได้เข้าใจน้องแมวของเรามากขึ้น และทำให้เราสามารถที่จะหาวิธีรับมือกับพฤติกรรมได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ เจ้าของต้องอย่าลืมว่า น้องแมวสามารถมีอายุยืนยาวได้ 15-20 ปี ดังนั้น ก่อนที่จะรับน้องมาเลี้ยง ควรมั่นใจว่าเราจะสามารถดูแลเขาไปได้ตลอดชีวิต การเลี้ยงแมวสามารถเลี้ยงได้ทั้งให้อยู่ในบ้านอย่างเดียว หรือเลี้ยงปล่อยนอกบ้าน แต่แมวที่เลี้ยงปล่อย มักจะพบว่ามีอายุขัยที่สั้นกว่าเนื่องจากมีความเสี่ยงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การบาดเจ็บจากการกัดกัน หรือถูกรถชน ถูกสุนัขกัด ถูกทำร้าย การติดโรคติดต่อ ถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว ในโรคติดต่อบางอย่าง ก็ยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันได้ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ หมออยากแนะนำให้เลี้ยงน้องแมวไว้ในบ้าน เพื่อความปลอดภัย และสุขภาพที่ดีของตัวน้องแมวเอง และเพื่อที่เขาจะได้อยู่กับเราไปนาน ๆ.

ผศ.สพ.ญ.ดร.จุฑามาส เบ็ญจนรัตน์ อาจารย์ประจำคลินิกพฤติกรรม
โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ และอาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ