จะดีแน่นอนเมื่อ “ความรู้” สามารถใช้เป็น “ทุนชีวิต” ได้ เพราะความขยันไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญแต่เพียงอย่างเดียวที่จะทำให้ใครคนหนึ่งประสบความสำเร็จได้ หากแต่ “โอกาส” ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน ดังนั้นโอกาสจึงเป็นเสมือนสิ่งที่ล้ำค่าอย่างมาก ซึ่งแนวคิด “เติมช่องว่างผ่านความรู้เพื่อเพิ่มโอกาส” นั้น กรณีนี้ก็มี “โมเดลคนนครพนม” ที่ “ทีมวิถีชีวิต” อยากชวนไป “ถอดรหัส” ว่า…ผู้คนที่นี่นั้นทำได้อย่างไร?? ทำให้ “ผู้ที่ขาดโอกาสไม่ถูกทิ้งไว้กลางทาง!!!”

โศภิษฐ์ ธงวิชัย

“เดือนละ 5,000 ทำ 20 วัน เริ่ม 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น บางทีชั่วโมงทำงานก็เพิ่มขึ้นโดยที่เราก็ไม่ได้ไปคิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ก็ต้องไป เพราะเราทิ้งเขาไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้นคนที่ทำงานนี้ เรื่องเงินอาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นเพราะใจมากกว่าที่ทำให้เรายังอยู่ตรงนี้น้ำเสียงดุและดัง แต่เจือไว้ด้วยความใจดี ของ “โศภิษฐ์ ธงวิชัย” หนึ่งใน “อาสาบริบาลท้องถิ่น” ในพื้นที่ จ.นครพนม บอกกับเราเรื่องนี้ และหลังจากเห็นว่าเราเข้าใจเหตุผลของการที่เธอเลือกทำงานที่รายได้ไม่สัมพันธ์กับความรับผิดชอบที่ต้องแบกรับนี้แล้ว โดยเธอได้เล่าให้เราฟังอีกว่า นอกจากงานอาสาบริบาลท้องถิ่นที่ทำนี้ เธอยังมีตำแหน่งเป็น เจ้าหน้าที่ อสม. อีกด้วย ส่วนเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจมารับหน้าที่เป็นอาสาบริบาลท้องถิ่นเพิ่มนั้น เธอบอกไว้น่าคิดว่า นอกจากจะได้ช่วยเหลือผู้พึ่งพิงเหล่านี้แล้ว ยังถือเป็นการช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับตัวเองด้วย หรืออย่างน้อยก็ทำให้ทักษะการพยาบาลยกระดับเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น ที่นอกจากจะเป็นประโยชน์กับตัวเธอเองแล้ว เธอยังมองว่า เป็นประโยชน์กับคนรอบข้าง และชุมชนที่เธออาศัยอยู่ด้วย

ทั้งนี้ โศภิษฐ์ เป็นหนึ่งในอาสาบริบาลท้องถิ่นที่ได้เข้าร่วมอบรม “หลักสูตรการดูแลผู้พึ่งพิงภายใต้ “โครงการพัฒนาทักษะอาชีพด้านการดูแลสุขภาพกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน” ของ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม ด้วยการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มีเป้าหมายในการฝึกทักษะอาชีพด้านนี้เพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย รวมถึงเพื่อที่จะรับมือกับวิกฤติสังคมผู้สูงวัยของ จ.นครพนม ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มประชากรผู้สูงวัยซึ่งเป็นผู้พึ่งพิงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยรายละเอียดเรื่องนี้ ผศ.ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าว่า นครพนมเป็นอีกพื้นที่ที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีกลุ่มพึ่งพิงที่ต้องได้รับการดูแลใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.เด็กอ่อน 2.ผู้ป่วยติดเตียง 3.ผู้สูงอายุ จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะจัดทำโครงการฯ นี้ขึ้น เพื่อที่จะลดปัญหาให้แก่คนกลุ่มนี้ ทั้งยังช่วยสร้างอาชีพให้ผู้ที่มีรายได้น้อยไปด้วยพร้อมกัน

ผศ.ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ

“นครพนมตอนนี้มีผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องการคนดูแล แต่ปัญหาคือ เราขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพที่จะมาช่วยดูแลคนเหล่านี้ ขณะที่ อสม. ที่มีหน้าที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ก็ยังมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ คือต่ำกว่า 6,500 บาทต่อเดือน เราก็คิดว่าน่าจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อที่จะปลดล็อกปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง จึงเกิดโครงการฯ กับหลักสูตรการดูแลผู้พึ่งพิงนี้ึ้” ผศ.ดร.รุ้งลาวัลย์เล่าถึงที่มาของแนวคิดในเรื่องนี้

พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงนั้น ถือเป็น 1 ใน 3 หลักสูตรที่เปิดให้ผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สนใจได้เข้าอบรม ซึ่งหลักสูตรการดูแลผู้พึ่งพิงทั้ง 3 หลักสูตรนั้น ผู้เข้าอบรมจะต้องเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี ภาคทดลอง และภาคปฏิบัติ รวมทั้งหมด 250 ชั่วโมง โดยจะเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่แนวคิดการดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ การประเมินสภาพร่างกาย การสร้างเสริมสุขภาพ โภชนาการของผู้ป่วย รวมถึงเทคนิคการดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคล เช่น การทำอาหารปั่น การอาบน้ำ การทำความสะอาดผู้ป่วย รวมถึงสอนเทคนิคการแก้ไขปัญหาของผู้ป่วย ซึ่งหลังฝึกอบรมเสร็จสิ้น และสามารถสอบผ่าน ทุกคนจะได้รับประกาศนียบัตรเพื่อรับรองว่าเป็นผู้ที่ผ่านหลักสูตร และสามารถนำใบประกาศนียบัตรไปสมัครทำงานเป็น “นักบริบาล” ได้

“บางคนตอนนี้ก็ได้บรรจุเป็นพี่เลี้ยงของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ได้รับค่าจ้างเดือนละ 8,000-9,000 บาท หรือบางคนก็ไปเป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาล หลังจากผ่านการอบรมการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ส่วน อสม.บางส่วนก็มีรายได้พิเศษเพิ่มจากการรับจ้างดูแลผู้ป่วยกลุ่มผู้พึ่งพิงตามบ้าน โดยขั้นต่ำก็จะมีรายได้ประมาณ 300 บาทต่อวัน หรือถ้าเป็นเคสเฝ้าไข้ที่โรงพยาบาล หรือเป็นเคสที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย รายได้ก็จะเพิ่มเป็น 600-800 บาทต่อการทำงาน 8 ชั่วโมง” เป็น “ผลตอบแทน” ที่อาสาบริบาลท้องถิ่นซึ่งผ่านการฝึกอบรมจะได้รับ ซึ่งถือเป็น “โมเดล” ที่ “วิน-วิน” ทั้งผู้ป่วยที่ต้องการคนดูแล ทั้งครอบครัวผู้ป่วยที่ต้องการคนช่วย รวมถึงอาสาบริบาลที่มีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น

แอนนา – วิชุดา รอบคอบ

“ตอนแรกรู้สึกกลัวมากว่าจะทำไม่ไหว ทำไม่ได้ เพราะเราไม่เคยเป็น อสม.มาก่อนเหมือนพี่ ๆ คนอื่น ๆ และความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุของเรายังเป็น 0 อีก แต่หลังจากที่ได้อบรมแล้ว และได้ลองทำด้วยตัวเองแล้ว ก็ค่อย ๆ มีความมั่นใจมากขึ้น” เสียงจาก “แอนนา – วิชุดา รอบคอบ” อาสาบริบาลท้องถิ่นวัย 28 ปี บอกกับเราถึงความรู้สึกเรื่องนี้ โดยเธอยังบอกว่า ก่อนมาอบรมหลักสูตรของโครงการฯ นี้ ปกติเธอจะดูแลผู้ป่วยติดเตียงในตำบลที่เธออาศัยอยู่เดือนละ 4 คน ทำงาน 20 วัน ได้ค่าจ้างเดือนละ 5,000 บาท ตามสัญญาจ้าง 1 ปี ที่ทำไว้กับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ว่าจ้างกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นโครงการของ จ.นครพนม ที่ต้องการสร้างอาชีพและเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้พึ่งพิง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง จนมีพี่ที่รู้จักคนหนึ่งชวนให้ลองมาเข้าอบรมหลักสูตรของโครงการฯ นี้ เธอก็สนใจ เพราะน่าจะช่วยเพิ่มทักษะความรู้ด้านนี้ได้ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ

แอนนา เล่าอีกว่า หลังได้เข้าอบรมแล้ว ทำให้ความมั่นใจที่จะดูแลผู้ป่วยของเธอมีเพิ่มมากขึ้นกว่าเก่า จากที่กลัว ๆ ก็เริ่มกล้ามากขึ้น เพราะได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะจนทำให้ตัวเธอเองมีพัฒนาการด้านนี้ดีขึ้น โดยนอกจากความรู้ที่มีมากขึ้นแล้ว เธอบอกว่า ยังนำความรู้ติดตัวที่ได้มานี้ไปแนะนำให้กับสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยที่เธอดูแลอยู่อีกด้วย และนอกจากนี้แอนนายังบอกถึงความเปลี่ยนแปลงจากการที่ได้เข้าอบรมในหลักสูตรฯ นี้ว่า แม้จะเป็นการอบรมแค่ช่วงสั้น ๆ ประมาณ 10 วัน แต่ก็ทำให้เธอเปลี่ยนจากคนที่ไม่ค่อยมั่นใจ กลายเป็นคนที่มีความมั่นใจมากขึ้น และทำให้เธอมีเครือข่ายกว้างขึ้น ซึ่งพี่ ๆ ที่ทำงานในหน้าที่นี้มาก่อน ทุกคนต่างก็คอยช่วยเหลือและเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำกับเธอตลอด 

“งานนี้ใช้ใจนำมาก่อนเลยค่ะ“ แอนนาบอกเราเรื่องนี้พร้อมรอยยิ้ม ก่อนที่จะขยายความว่า งานดูแลผู้ป่วยเป็นงานที่หนัก และต้องทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยรู้สึกเชื่อมั่นและไว้ใจ จึงจะทำให้สถานการณ์ที่ตึงเครียดต่าง ๆ คลี่คลายไปได้ แน่นอนว่าบางทีเราเองก็ต้องรับอารมณ์ผู้ป่วย รับอารมณ์ของครอบครัวผู้ป่วยให้ได้ ซึ่งตรงนี้นอกจากจะต้อง “ใจรัก” แล้ว “ใจเย็น” ก็เป็นอีกคุณสมบัติสำคัญเช่นกัน “เราต้องเข้าใจก่อนว่าผู้ป่วยหรือครอบครัวของผู้ป่วยนั้น ก่อนที่เราจะเข้ามาเติมเต็มตรงนี้ให้เขานั้น เขาอาจจะดูแลกันมาจนล้าจนเครียดกันทั้งบ้านแล้ว ดังนั้นเวลาที่เราเจอแรงปะทะมา จึงยังนิ่งได้ ยังใจเย็นอยู่ได้ นั่นก็เพราะเราเข้าใจเขานั่นเอง” แอนนาย้ำ “คีย์เวิร์ด” ของภารกิจนี้กับเรา

พร้อมเผยความรู้สึกว่า จากคนที่ว่างงาน คนที่ไม่มีรายได้ กลายมาเป็นคนที่มีงานทำ มีรายได้ แถมยังได้ช่วยสังคมกับชุมชนที่อาศัยอยู่ เธอเองรู้สึกภูมิใจที่ได้มาทำหน้าที่ตรงนี้ แม้ภารกิจจะหนัก จะเหนื่อย ทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 5 โมงเย็น และก็ต้องทำงานเลยเวลาอยู่บ่อย ๆ ซึ่งกว่าจะกลับถึงบ้านก็มืดค่ำ จนทำให้ท้อในบางครั้ง แต่เธอก็ดีใจที่ได้มีโอกาสทำภารกิจนี้ “เงินเดือนเท่านี้พอไหม ตอบได้เลยว่าไม่พอ แถมบางทีเรายังต้องควักกระเป๋าเงินตัวเองเพื่อซื้อผลไม้ ซื้อนม ซื้อของกินไปฝากผู้ป่วยอีก (หัวเราะ) เพราะผู้ป่วยเขาอยากกิน เขาขอร้องเรา เราก็ทำให้ เพราะเราไม่ได้เห็นเขาเป็นคนอื่น แต่มองว่าเขาเป็นเหมือนผู้ใหญ่ในครอบครัวเราเอง ถามว่าแล้วทำไมถึงยังทำอยู่ ตอบเลยว่า เรื่องเงินก็เป็นปัจจัย แต่การได้เห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของผู้ป่วย เวลาที่เขาเห็นเราไป ตรงนี้สำคัญกว่าค่ะ” ทาง แอนนา ย้ำเรื่องนี้

“บางทีก็เขินนะ เพราะผู้ป่วยบางคนก็ติดปากเรียกเราว่าคุณหมอ…คุณหมอ…” เสียงของ โศภิษฐ์ บอกเราอย่างอารมณ์ดีในเรื่องนี้ พร้อมพูดถึงสิ่งที่คาดหวังของเธอว่า… อยากให้คนรุ่นใหม่ ๆ อย่างเช่นรุ่นแอนนา ที่ยังไม่มีงานทำ ลองพิจารณา “ทางเลือกอาชีพ” นี้ เพราะนอกจากจะมีรายได้จากการทำงานแล้ว ยังถือว่าเป็น “อาชีพเพื่อสังคม” ด้วย เพราะปัจจุบันมีกลุ่มผู้พึ่งพิงแบบนี้เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญอาชีพ “นักบริบาล” นี้ยังอาจจะใช้เป็น “ใบเบิกทางชีวิต” ให้กับตัวเอง ให้ได้เจอโอกาสที่ดี ๆ ก็ได้ “ตอนนี้ถ้าใครมีใบรับรองอาชีพ สามารถบินไปต่างประเทศได้เลยนะ เพราะตอนนี้ตลาดแรงงานในต่างประเทศก็กำลังต้องการคนที่ทำงานนี้อยู่อีกมาก” เป็นเสียงทิ้งท้ายจากอาสาบริบาลคนนี้

ทั้งนี้ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ผศ.ดร.รุ้งลาวัลย์ ย้ำกับ “ทีมวิถีชีวิต” ถึง “ผลสำเร็จ” ของโครงการฯ ว่า… โครงการฯ นี้ไม่ได้ทำแค่ต้นน้ำ ที่เป็นเพียงการสร้างความรู้และทักษะเท่านั้น แต่ทำตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ด้วยการออกแบบหลักสูตรให้ผู้เรียนมองเห็นว่า จะได้เรียนรู้อะไร? จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร? ซึ่งตอบโจทย์ในเรื่องของ “การเรียนรู้ที่ยั่งยืน” โดยผู้อบรมหลักสูตรนี้ นอกจากจะสามารถนำทักษะไปใช้ประกอบอาชีพสร้างรายได้แล้ว ยังได้รับความรู้และเกิดทัศนคติที่ดีในการดูแลกลุ่มผู้พึ่งพิง รวมถึง ช่วยเสริมให้เกิดความเข้มแข็งกับชุมชนและสังคม จนคนทุก ๆ กลุ่มเดินไปพร้อมกันได้ โดย…

“ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”.