เรามักจะเห็นว่า แต่ละเทศกาลมักจะมีโพลอะไรต่างๆ สำรวจความนิยมของสังคมออกมาเรื่อยๆ ไปตามกิจกรรมที่เขานิยมทำกันในเทศกาลนั่นแหละ อย่างช่วงวาเลนไทน์ ก็มีโพลแนวๆ อยากแปะสติกเกอร์หัวใจให้ใคร (แบบที่เด็กๆ ชอบเล่น) สงกรานต์ อยากรดน้ำดำหัวหรืออยากเล่นน้ำกับใคร ลอยกระทง อยากลอยกับใคร และปีใหม่เหมือนจะเป็นวาระสำคัญที่สุดคือจะมีการสรุปบุคคลแห่งปี ซึ่งก็มักจะเป็นผลงานในด้านดี

ผลโพลสำรวจออกมาบางทีคนก็ไม่ค่อยจะพอใจนัก บอกว่ากลุ่มตัวอย่างทำไมมันนิดเดียว เช่นบางโพลอ้างอิงประชากรทั้งประเทศแต่สุ่มมาแค่หลักพันต้นๆ (มีถามกันว่านั่งกากันเองรึเปล่า) … อันนี้ก็ต้องอธิบายถึงการสุ่มว่าการสุ่มที่ดี “ทุกกลุ่มประชากรที่โพลอ้างอิงต้องมีสิทธิถูกเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่าง” อย่างเช่น ถ้าสุ่มเรื่องอะไรก็ตามเกี่ยวกับสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) สมาชิกพรรคที่มีบัตรสมาชิกทุกคนต้องมีโอกาสถูกเลือกสำรวจ จะสุ่มกันอย่างไรก็แล้วแต่ เช่นเดียวกับการใช้กลุ่มตัวอย่างเขตประเทศ ประชากรทั้งประเทศต้องมีสิทธิถูกเลือก แต่ก็มีคนสงสัยอยู่ว่า “การสุ่มจำนวนไม่มาก จะทำให้เกิดค่า error ของโพลหรือเปล่า” กลุ่มตัวอย่างน้อยกว่าที่ควร ผลโพลมีโอกาสผิด

ก็แล้วแต่ว่าแต่ละสำนักโพลจะใช้วิธีสุ่มอย่างไรก็แล้วกัน และที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ถ้าไม่อ่านโพลให้ละเอียดแล้วความเข้าใจมันจะเพี้ยน บางโพลก็ตั้งคำถามแบบชวนให้เวียนหัว แบบเป็นประโยคเงื่อนไขทำให้กลุ่มตัวอย่างงง ตอบอ๊องๆ ไปเลย หรือลักษณะโพลแบบคำถามชี้นำได้ เช่น “นักการเมือง ก.ทำให้ราคาข้าว ยาง มันสำปะหลัง ข้าวโพดราคาขึ้น ท่านคิดว่านักการเมือง ก.ทำผลงานนี้ได้ดีหรือไม่” มันก็ต้องตอบว่าดีเป็นเรื่องธรรมดาเพราะสินค้าเกษตรราคาขึ้น แต่ปัญหาคือมันเป็นคำถามชี้นำ แล้วพอเผยแพร่ไม่อ่านกันละเอียดก็เอาไปแปลงสารว่าคนชอบนักการเมือง ก.ซะอีก ทั้งที่ถ้าเอาคำถามง่ายๆ ก็แค่ว่า “คุณคิดว่านักการเมือง ก.มีผลงานดีหรือไม่” ถามอย่างนี้เผลอๆ ได้คำตอบอีกเรื่อง

หรือตัวอย่างก่อนหน้านี้ก็มีการจำแนกกลุ่มตัวอย่างเป็นฝั่งรัฐบาล ฝั่งฝ่ายค้านแล้วถาม “บุคคลในฝ่ายรัฐบาลที่ได้รับความชื่นชอบที่สุดเป็นใคร”, “บุคคลในฝ่ายค้านที่ได้รับความชื่นชอบที่สุดเป็นใคร” ก็แน่นอนว่ามันเป็นคำถามที่ต้องแยกตอบ คนให้คะแนนฝ่ายรัฐบาลคนไหน ให้คะแนนฝ่ายค้านคนไหน ไม่ได้ถามเป็นภาพรวมว่า “ชื่นชอบนักการเมืองคนไหน” เสียหน่อย แต่พอออกไปเป็นข่าวก็กลายเป็นว่า ถูกเอาไปเหมารวม แล้วคนที่ไม่ชอบใจก็เย้ยหยันไยไพกันว่าไปสำรวจที่ไหนมา ไม่เห็นเหมือนกับที่เขาคิด ..ทั้งที่จริงๆ อ่านละเอียดมันก็แยกออกจะชัด

ที่น่าสงสัยคือ บางทีคำถามโพลนี่ครอบคลุม “ทุกตัวเลือกที่อาจเป็นคำตอบ” แล้วหรือยัง อย่างโพลอยากให้ใครเป็นนายกฯ ก็น่าจะหน้าม้านกันไปบ้างแล้วเพราะโพลหนึ่งปรากฏชื่อนักการเมืองคนหนึ่งนำ อีกโพลดันไม่มีชื่อนักการเมืองคนนั้น แถมสำนักโพลก็ดันอยู่รั้วใกล้ๆ กันอีกทำให้น่าสงสัยว่าไปสำรวจกันมายังไงวะ หรือถ้าโพลไม่ได้กำหนดตัวเลือก (choice) ให้กา ก็น่าจะเป็นประเภทถามนำให้คนตอบโพลเสนอชื่อเอง แต่ก็น่างงว่าถามกันอีท่าไหนเพราะนักการเมืองชื่อดังที่น่าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ มันก็มีไม่กี่คนหรอก “ชื่อดัง” หายไปได้แบบงงๆ

แต่โพลก็ดูจะมีอิทธิพลกับนักการเมืองมากพอสมควร เพราะมีหลายครั้งหลายคราวที่นักการเมืองพูดถึงโพล ถ้านึกออกเร็วๆ ก็ตั้งแต่ตอนสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯหญิง ก็เคยแสดงความดีใจที่มีโพลชื่นชมผลงาน แล้วก็นักการเมืองคนอื่นๆ อีกที่สื่อชอบไปถามเรื่องผลโพล ถ้าดีเขาก็ชอบ ไม่ดีเขาก็ว่าสำรวจคนมาแค่นั้นไม่ตรง

อย่างที่อธิบายไป “ค่าความเพี้ยน” ของโพลมันเกิดได้ตั้งหลายอย่าง มันมีวิธี “พลิ้ว” ให้ได้ผลที่อยากชี้นำ ..เมื่อมันมีผลต่อการรับรู้ ทัศนคติของประชาชน ก็ทำให้น่าจะต้องสนใจและระวังกันเรื่อง “โพลถูกใช้เพื่อชี้นำทางการเมืองได้” สมมุติเช่น การเลือกผู้ว่าฯ กทม. ถ้าผลโพลออกมาถี่ๆ ว่าใครนำ ก็มีโอกาสที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจจะไปกาโหวตให้ เพราะเห็นว่า เอาคนที่เป็นกระแสดีกว่าโอกาสชนะ ถึงมีคนที่ชอบ ดันทุรังเลือกไปก็กลายเป็นคะแนนทิ้งน้ำเปล่าๆ   

ล่าสุด มีการสำรวจโพลที่น่าสนใจคือซูเปอร์โพล เกี่ยวกับบุคคลแห่งปี ปรากฏว่าที่อึงอลกันไปทั่วทั้งอินเทอร์เนตคือ บุคคลแห่งปีที่ช่วยเหลือแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนและปัญหาสังคม หนี้นอกระบบ ที่ดินทำกิน แหล่งน้ำ และอื่นๆ ลดความเดือดร้อนปัญหาปากท้องของประชาชน พบ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. และรองนายกฯ ร้อยละ 40.0 เพราะเป็นรองนายกฯ ที่ดูแลใส่ใจแก้ปัญหาด้วยตนเองโดยเฉพาะความเดือดร้อนทุกข์ยากของคนฐานราก (สำรวจทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณจากกลุ่มตัวอย่าง 1,124 คน)

ในเชิงปริมาณ คือการนับจำนวนเป็นค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ และในส่วนคุณภาพก็น่าจะเป็นการถามถึงเหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างเลือกบุคคลคนนี้เป็นบุคคลแห่งปี เพราะมีการให้เหตุผลว่า “เป็นรองนายกฯ ที่ดูแลใส่ใจแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยเฉพาะความเดือดร้อนทุกข์ยากของคนฐานราก” แต่คำถามมันยาวไปไหม …ถามสั้นๆ ว่า บุคคลแห่งปีที่ช่วยแก้ปัญหาปากท้องและสังคม แค่นี้ก็พอหรือเปล่า ? คำถามโพลยิ่งซับซ้อนมีโอกาสทำให้กลุ่มตัวอย่างตอบส่งๆ ได้ไหม ?

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ปัญหาที่หนักที่สุดคือปัญหาเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด ที่กระทบต่อปากท้องประชาชนอย่างรุนแรงเพราะทำงานไม่ได้ ถูกเลิกจ้างไปก็เยอะ แต่ไม่เห็นชัดว่า บิ๊กป้อมมีบทบาทชัดเจนช่วยตรงนี้ ที่ออกมาเป็นผลงานรัฐบาลคือกู้เงินจ่ายช่วยเหลือ ซึ่งน่าจะเป็นดำริของนายกฯ หรือฝ่ายเศรษฐกิจด้วยซ้ำ เขาจึงไม่เชื่อว่า “มีส่วนในการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนจริงๆ” แถมเรื่อง ปัญหาสังคม หนี้นอกระบบ รัฐบาลโดยบิ๊กป้อมที่ดูเรื่องนี้อยู่ก็ไม่ได้มีข่าวแอ๊คชั่นอะไรอย่างเห็นชัดเจน ถึงจะมีข่าวการสั่งการ แต่มันก็คืองานปกติ (routine) และที่บิ๊กป้อมระบุว่า “ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้ดูแลการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล” ตอนนี้กระแสหลอกลวงออนไลน์ระบาด มีแอ๊คชั่นอะไรชัดเจนหรือยัง ?

เรื่องแหล่งน้ำก็ยังมีเสียงค่อนแคะว่า “ก็ไม่เห็นเป็นข่าวอะไรนอกจากล่าสุดที่จะเอางบแปดหมื่นล้านไปแก้ปัญหาคลองแสนแสบ” ก็มีคนเถียงว่ารองนายกฯ ไปตรวจดูแหล่งน้ำตั้งหลายแห่ง อย่างช่วงน้ำท่วมแรกๆ ก็ไปดูถึงบางบาล แยกคณะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่ไปดูที่เพชรบุรี แต่คนที่ติดตามข่าวการเมืองก็ว่าแทบไม่รู้ว่าไปทำอะไรที่บางบาล นอกจากมันกลายเป็นเรื่องวัดขุมกำลังกันว่าระหว่างนายกฯ กับหัวหน้าพรรค พปชร. กลุ่มไหนจะมี ส.ส.ไปมากกว่ากัน กลายเป็นภาพของการวัดขุมกำลังท่ามกลางข่าวลือความแตกร้าวของ 3 ป.

ฝั่งหนึ่งที่ชอบการเมืองในแนวเสียดสี เย้ยหยัน ก็ยังว่าบิ๊กป้อมจะทำอะไรไหว เพราะเอาแต่บ่นเรื่องปัญหาสุขภาพ นั่งประชุมก็หลับ..ฝ่ายที่สนับสนุนรองนายกฯ ก็บอกว่าท่านเป็นคนน้ำนิ่งไหลลึก ปิดทองหลังพระหรืออะไรก็ตาม แต่ทำมาเยอะ ซึ่งเอาจริง ในทางการเมืองการมีผลงานอะไรมันต้องทำให้เป็นที่ประจักษ์ ตอบคำถามอธิบายสื่อได้ เพื่อใช้เป็นฐานคะแนนให้คนพูดถึงเอง ไม่ต้องพยายามให้ใครชี้นำว่านี่คือผลงานของคนๆ นี้ … ไม่ต้องถึงยุคทักษิณหรอก เอาแค่ยุคต้นๆ รัฐบาลนี้ฝ่ายเศรษฐกิจก็สร้าง “ชื่อจำ” ได้ในเรื่องบัตรคนจน คนละครึ่ง

ข้อสังเกตเกี่ยวกับผลโพลที่ออกมายังมีอีกเยอะ โดยเฉพาะว่า “หวังผลทางการเมืองหรือไม่?” เพราะมีการใส่ตำแหน่ง “หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” ชัดเจน..คนเรามีการวิเคราะห์ได้หลายรูปแบบ การใส่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคถูกมองไปถึงเรื่องข่าวความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยลงรอยกันนักของ 3ป. จากข่าวลือที่ว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ต้องการเปลี่ยนตัวนายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องกำจัดหอกข้างแคร่

การเมืองปี 65 เป็นที่จับตาว่าจะเกิด “อุบัติเหตุ” ให้มีความเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ ..เช่น หากเคลียร์กันลงตัวไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็พร้อมจะย้ายไปอยู่พรรคใหม่ (ที่มีข่าวกระเซ็นกระสายออกมาคือมีการวางตัวกุนซือเศรษฐกิจเป็นตัวนำพรรค เหมือนสมัยเปิดตัวพรรค พปชร.นั่นแหละที่เอานายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และทีมสี่กุมารขึ้นนำก่อน) จุดขายของ พปชร. เมื่อไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องเปลี่ยน ..ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัสและนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคทำพื้นที่อย่างหนัก บิ๊กป้อมที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เช่นนี้ก็ต้องใช้ผลโพลมาให้ประชาชนรับรู้การทำงานหรือไม่ ? (และก็ตามมาด้วยคำถามว่าผลงานมีอะไรบ้าง)

ชาวเน็ตเป็นนักขุดกันอยู่แล้ว พอเห็นสำนักโพลก็ตั้งคำถามไปถึงผู้ทำโพล คือ นายนพดล กรรณิกา ปรากฏชื่อว่าเมื่อวันที่ 14 ต.ค.2557เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา รมว.แรงงาน (พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) ในยุค คสช. มันก็อาจทำให้คนคิดตั้งคำถามว่า โพลนี้ “คนใน คสช.” มีอิทธิพลเหนืออยู่หรือไม่ และที่สำคัญคือการสร้างกระแสชี้นำ เพื่อเตรียมจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ..อย่าลืมว่าคนสมัยนี้ตั้งคำถามกับอะไรๆ มากขึ้น มีอะไรเขามีสิทธิ์คิด

การอ่านข่าวโพลก็ต้องพิจารณาดีๆ ดูไปถึงการตั้งคำถาม เพราะเราไม่รู้หรอกว่า วันดีคืนดีจะมีโพลไหนหน้าใหม่ออกมาเพื่อใช้สร้างกระแส, หวังผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่.

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”