“ช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยเพราะโควิด-19 อาเซียนได้แซงหน้าสหภาพยุโรป ( อียู ) ขึ้นแท่นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนเป็นครั้งแรก” นาย ออง ที เกียต ประธานศูนย์วิจัยนิว อินคลูซีฟ เอเชีย (The Centre for New Inclusive Asia) ของมาเลเซียกล่าวในการประชุมเสวนาเชิงยุทธศาสตร์คลังสมองจีน-อาเซียน (China-ASEAN Think Tank Strategic Dialogue Forum) ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นที่นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เมื่อไม่นานมานี้ พร้อมเสริมว่า จีนและอาเซียนกลายเป็นต้นแบบของความร่วมมือระดับภูมิภาค ซึ่งบ่งชี้ว่าประเทศที่มีอุดมการณ์ และระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันสามารถร่วมมือกันได้

ด้านนาย ตัง ซวน ทันห์ รองผู้อำนวยการสถาบันสังคมศาสตร์แห่งเวียดนาม กล่าวว่า เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และ การค้าระหว่างเวียดนาม-จีน ก็เติบโตขึ้นมาก มูลค่าการนำเข้าและส่งออกระหว่าง เวียดนามกับจีน สูงกว่า 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.3 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2563 และปริมาณการค้าทวิภาคีโดยรวมสูงทะลุ 91,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบปีต่อปี

“อาเซียนเป็นแหล่งลงทุนในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของจีน เมื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น ห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างกันก็เติบโตและแข็งแกร่งขึ้น” นายหวง เหรินเหว่ย รองประธานบริหารสถาบันแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ( บีอาร์ไอ ) และธรรมาภิบาลระดับโลกแห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นกล่าว โดยจีนได้สร้างสวนอุตสาหกรรมจำนวนมากในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และประเทศอาเซียนอื่น ๆ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5,000 ล้านหยวน (ราว 26,109.78 ล้านบาท)

นาย จ้าว จิ้นผิง นักวิจัยจากศูนย์วิจัยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่อง ของสำนักงานที่ปรึกษาแห่งคณะรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า นี่คือโอกาสที่ดี พร้อมเสริมว่าจีนเพิ่มสัดส่วนการยกเว้นเก็บภาษีเป็นร้อยละ 60 ในปีแรกและจะเพิ่มเป็นกว่าร้อยละ 90 เมื่อระยะเปลี่ยนผ่านสิ้นสุดลง

ด้านนายนีก จันดาริธ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ของกัมพูชา ให้ความเห็นว่า นานาประเทศส่งออกสินค้าไปยังจีนกว่า 4,000 ชนิด แต่กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังจีนเพียง 500 ชนิด และส่วนมากไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีระดับสูง “ยังมีโอกาสอีกมากในการค้าทวิภาคีกัมพูชา-จีน กัมพูชาต้องเพิ่มความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ส่งออก และเพิ่มกลไกการส่งออกหลายรูปแบบ”

ส่วนนายหยวน โป รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา แห่งสถาบันการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สังกัดกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า อาร์เซ็ปจะส่งเสริมความร่วมมือแบบสมประโยชน์และสานประโยชน์ และความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่าที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นของภูมิภาค.

เลนซ์ซูม

ขอขอบคุณ : XINHUA