รัฐบาลไทย ยืนยันต่อที่ประเทศประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในการร่วมมือที่แก้ไข เปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ ให้กลับมาเป็นอากาศบริสุทธิ์ น่าอยู่ น่าสัมผัส ภายในปี 2050 พร้อมกับเดินหน้าโครงการยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

ซึ่งนั่นคือที่มาของนโยบายขอความร่วมมือทุกจังหวัดในเมืองไทย ร่วมด้วยช่วยกันเปลี่ยนแปลงอากาศเป็นพิษให้กลับมาเป็นอากาศบริสุทธิ์ ด้วยเหตุผลดังกล่าว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จึงได้ให้นโยบายแก้ไขเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว ในโครงการ BCG Model (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว ) โดยเฉพาะการจัดแข่งขันกีฬา ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและมากที่สุด

โดยเริ่มจาก 1 ใน 6 เมืองกีฬานำร่อง (Sports Cit ) ประกอบด้วย ชลบุรี, สุพรรณบุรี, บุรีรัมย์, อุดรธานี, กระบี่ และ ศรีสะเกษ ซึ่งทั้ง 6 จังหวัด ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กำหนดให้เป็นกลุ่มแรก เมื่อปี 2561 ตามแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6

ทั้งนี้ หากพูดถึง จ.ศรีสะเกษ คงไม่มีใครไม่รู้จัก นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ หรือ “เฮียโต้ง” เจ้าของสโลแกน “วิสัยทัศน์กว้างไกล ใจถึงพึ่งได้” ถือเป็นอีกหนึ่งคนกีฬาตัวจริงเสียงจริงของไทย ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เลขาคณะกรรมาธิการ การกีฬาสภาผู้แทนราษฏร และนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดศรีสะเกษ

“ส.ส.โต้ง” เป็นหนึ่งในผู้ที่มีความรู้ ความสามารถทั้งด้านกีฬาและด้านเศรษฐกิจของไทย ได้ขานรับนโยบายของผู้นำประเทศ ยืนยันว่านี่ไม่ใช่โจทย์ใหญ่ พร้อมทั้งยังตั้งธงในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการแสดงความเห็นว่า…

“จ.ศรีสะเกษ เป็นเมืองที่ผู้คนในจังหวัดชอบดูกีฬา ในฐานะที่ผมเองรักและเล่นกีฬาเป็นทุนเดิม จนเป็นที่รู้จักของคนทั้งจังหวัด น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ต่อมาได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกสมาคมกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ จึงยินดีอย่างมากพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่”

“สิ่งแรกที่ทำและประสบความสำเร็จสามารถจับต้องได้คือการเชิญชวนให้ประชาชนหันมาสนใจการออกกำลังกาย ต่อด้วยการจัดแข่งขันกีฬาภายในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลโดยตรงให้จังหวัดศรีสะเกษ บูมเรื่องกีฬาเร็วมาก มีนักกีฬาเป็นเลิศ (สมัครเล่น) และนักกีฬาอาชีพ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้ ศรีสะเกษ เป็นเมืองกีฬาเพื่อมวลชน ด้วยความภาคภูมิใจ”

นายกกีฬาเมืองศรีสะเกษ ยังพูดถึงโครงการ BCG Model ว่า เป็นแนวมคิดที่ดีมาก เพราะเมื่อสิ่งแวดล้อมดี อากาศดี ก็ส่งเสริมการออกกำลังกาย ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของศรีสะเกษ ย้อนมองกลับไปเมื่อในอดีต จ.ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดที่เติบโตจากสินค้าการเกษตร ส่วนดีอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นจังหวัดที่การจราจรไม่แออัด เป็นจังหวัดที่ผู้คนชอบออกกำลังกาย เป็นจังหวัดที่ปัญหา อาชญากรรมเกิดขึ้นน้อยมาก สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขเพียงอย่างเดียวคือการเผาขยะยังมีบ้างประปราย แต่ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจนเหลือน้อยลงสัปดาห์ละครั้ง นี่คือเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม และ เป็นการก่อให้เกิดภาวะอากาศเป็นพิษ ซึ่งอีกไม่นานจะเจือจางลงและจะต้องเหลือเป็นศูนย์

ภาพลักษณ์ของศรีสะเกษ เป็นเมืองเกษตรกรรม มีทุ่งกุลาร้องไห้, เป็นแหล่งปลูกหอม ปลูกกระเทียม ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองไทย, มีผ้ามออีแดง, มีเขาพระวิหาร, มีทุเรียนภูเขาไฟ (เนื้อแห้ง รสมัน หวานน้อย) ส่งขายไม่ต่ำกว่า 600 ตัน และยังได้ส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และสวีเดน ปีละมากมายเช่นเดียวกัน   

ส่วนเรื่องกีฬานั้น นายสิริพงศ์ ได้นำ BCG Model มาเป็นตัวเชื่อมที่ดี เนื่องจากศรีสะเกษ กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 37 ในเดือน มี.ค.นี้ ที่ผ่านมาได้มีการปรึกษาหารือ และหาทางออกกับหอการค้า ในการจัดระเบียบร้านอาหารให้สะอาด ถูกหลักอนามัย รวมถึงในการจัดถนนคนเดิน จำเป็นต้องปราศจากกล่องใส่อาหารที่เป็นโฟม เมื่อลดโฟมได้ ก็เป็นการลดภาวะโลกร้อนทันที โดยสร้างจิตสำนึกให้คนจังหวัดศรีสะเกษรักษ์โลก

“ผลพลอยได้ที่ตามมาคือสร้างความประทับใจให้กับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารที่เดินทางมาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ชื่นชมในความสวยงาม ความเป็นระเบียบ ความมีวินัยของคนศรีสะเกษ โดย ศรีสะเกษ พร้อมแล้วที่ปฏิบัติเป็นจังหวัดแรกเพื่อให้ผู้บริหาร ให้นักกีฬาทุกจังหวัดซึมซับสิ่งที่ดีๆ ไปใช้กับจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง”

“ในมุมมองของผม กกท. จำเป็นจะต้องมีข้อเสนอแต่ละจังหวัดว่าหากคุณจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา คุณก็จะต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ คุณจะต้องทำแผนเรื่อง BCG มาพูดกับ กกท. ก่อนที่คุณจะเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานที่ดี สำหรับจังหวัดที่เป็นเจ้าภาพครั้งต่อๆ ไป อย่างน้อยอากาศดี สถานที่แข่งขันดี มีความสะอาด แม่ค้าที่ตั้งร้านขายอาหารบริเวณข้างสนามแข่งขัน จะต้องสะอาดและมีคุณภาพ สุดท้ายจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการขายอาหาร ขายสินค้า ในพื้นที่เป็นอย่างดี” ส.ส.โต้ง กล่าว

พร้อมทิ้งท้ายด้วยคำพูดที่ว่า “กีฬาเป็นเรื่องของการออกกำลังกาย เป็นเรื่องของสุขภาพ กีฬาจะทำได้ไม่เต็มที่เลย หากคุณไปจัดในที่ๆ มีมลภาวะ เพราะจะทำให้การหายใจอึดอัด ปอดทำงานหนัก เหนื่อยเร็ว แถมยังเป็นอันตรายต่อร่างกายโดยตรง ฉะนั้นเรื่องของกีฬา เรื่องของการออกกำลังกาย เรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของอากาศ เรื่องของน้ำ ต้องใสสะอาด สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าอากาศดี ผู้คนก็อยากออกกำลังกาย ถ้าน้ำใส สถานที่ท่องเที่ยวสวย ผู้คนก็อยากหอบลูกจูงหลายออกไปเดินเล่น อยากออกกำลังกาย ปัญหาตอนนี้ยังไม่ได้รับการดำเนินการอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาเป็นเพียงการเขียนโครงการที่สวยหรู แต่ยังไม่เคยมีใครปฏิบัติ ดังนั้น กกท. หน่วยงานที่ควบคุมการแข่งขันกีฬาระดับชาติ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการพูดคุย และทำข้อตกลงกับจังหวัดแต่ละจังหวัดให้ชัดเจน”

ถือเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจของคนกีฬาที่ชื่อ “สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” ทั้งเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว กับแนวทางการสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เป็นสีขาว สร้างปอดที่ดีมีคุณภาพให้กับคนเมืองและชาวศรีสะเกษ นำไปใช้ได้ดีกับนักกีฬา และน่าจะสะท้อนถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย กับนโยบายการพัฒนาคุณภาพคน คุณภาพชีวิต โยงติดถึงคุณภาพที่ดีของนักกีฬาทีมชาติไทย ในอนาคตต่อไป

## วอน อ่อนวงค์ ##