ทีมข่าว “1/4 Special Report” ปิดต้นฉบับตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.65 ก่อนจะมีคำชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นในเหมืองทองคำอัครา จ.พิจิตร และเพชรบูรณ์ ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จํากัด (มหาชน) หลังจากมีการเลื่อนชี้ขาดการตัดสินของอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศ ตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. 64 มาเป็นวันที่ 31 ม.ค. 65 ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะ “เลื่อน” การชี้ขาดตัดสินออกไปอีก

แม้ว่าช่วงปลายเดือน ธ.ค. 64 จนถึงกลางเดือน ม.ค. 65 จะมีข่าวจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรมว่าคณะกรรมการแร่ได้อนุมัติให้ต่ออายุประทานบัตร เพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน ด้วยวิธีการทำเหมืองแร่แบบเหมืองเปิด จำนวน 4 แปลง ให้แก่บริษัท อัคราฯ ในพื้นที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 64-29 ธ.ค. 74

เลื่อนตัดสินได้อีกครั้ง-เจรจายังไม่จบ!

นอกจากนี้คณะกรรมการแร่ยังอนุญาตการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 ให้แก่บริษัทอัคราฯ เพื่อประกอบโลหกรรมแร่ทองคำด้วยวิธีการโลหะวิทยาสารละลาย วิธีการโลหะวิทยาไฟฟ้า วิธีการโลหะวิทยาความร้อน ที่ต.เขาเจ็ดลูก และต.ท้ายดง ออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 65-18 ม.ค. 70 ซึ่งคำขอต่ออายุประทานบัตรทั้งหมด เป็นคำขอที่บริษัทได้ยื่นไว้ตาม พ.ร.บ.แร่ ปี 2510 และ พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม

ขณะที่บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าได้รับการอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่จำนวน 4 แปลง เปิดโอกาสให้คิงส์เกตสามารถกลับมาดำเนินงานที่เหมืองทองคำอัคราได้อีกครั้ง หลังต้องยุติไปนานถึง 5 ปี

ทีมข่าว “1/4 Special Report” ได้รับข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องว่ามีสัญญาณว่าจะมีการเลื่อนคำชี้ขาดตัดสินออกไปจากวันที่ 31 ม.ค.65 เพราะยังสามารถ “เลื่อน” ได้อีก 1 ครั้ง เนื่องจากการเจรจายังไม่เสร็จสิ้น โดยคู่กรณียังยืนกรานว่ารัฐบาลไทยต้องจ่ายค่าเสียหาย 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 24,772 ล้านบาท) ตามที่คิงส์เกตเรียกร้องไปตั้งแต่แรก ส่วนเรื่องของ “ประทานบัตร” เป็นการอนุญาตตามปกติของขั้นตอนการทำเหมืองฯ ขณะที่การเจรจายังคงดำเนินต่อไป

 “วันนี้เหมืองทองคำอัครานำใบอนุญาตประกอบโลหกรรม และประทานบัตร ไปใช้ค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินจากธนาคารได้หรือเปล่า? เพราะการจะเปิดเหมืองที่ถูกคำสั่งปิดตามมาตรา 44 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นเวลา 5 ปีเต็ม ๆ มันต้องใช้เวลาในการซ่อมแซม ปรับปรุงโรงงาน เครื่องจักรกลหนัก รถบรรทุก ฯลฯ ไม่ต่ำกว่า 4-5 เดือน ต้องใช้เงินไม่น่าจะต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้จะมาจากไหน ใครจะเป็นคนจ่ายและที่สำคัญใบอนุญาตเพื่อให้เหมืองกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ
ยังออกไม่ครบ”

ต้องใช้ “เงิน-เวลา” จึงเปิดเหมืองฯได้

ดังนั้นเหมืองทองคำอัคราจึงยังไม่ได้เปิดง่าย ๆ เพราะต้องใช้ทั้งเงิน ใช้เวลา และใบอนุญาตอีกบางประเภท แต่ก่อนหน้านี้พอมีข่าวออกไปว่าใบอนุญาตประกอบโลหกรรม และประทานบัตรมาแล้ว ไม่ทราบว่าราคาหุ้นของบริษัท คิงส์เกตฯในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียปรับตัวขึ้นหรือไม่? แต่เรื่องดังกล่าวน่าจะมีผลทางจิตวิทยาต่อนักลงทุนในต่างประเทศบ้างพอสมควร

แต่สำหรับเหมืองทองคำอัคราใน จ.พิจิตร แม้จะมีใบอนุญาตประกอบโลหกรรม และประทานบัตร แต่เหมืองฯ ยังไม่สามารถเปิดได้ทันที เนื่องจากถูกปิดมา 5 ปี ต้องใช้เงิน ใช้เวลาในการซ่อม แซมปรับปรุงโรงงาน เครื่องจักรกลหนัก และรถบรรทุก เป็นต้น แล้วที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องประกาศรับคนงานใหม่ทั้งหมดนับพันคน ถ้าไม่ใช้พนักงาน หรือคนงานในท้องถิ่นตามสัดส่วนที่เหมาะสม อาจจะมีปัญหาตามมาอีก เพราะอย่าลืมว่าเหมืองฯถูกปิดไป 5 ปี ทั้งประชาชน ร้านค้า พ่อค้า แม่ค้าในพื้นที่อาจจะขาดรายได้ไป แต่เขาก็อยู่กันได้มา 5 ปีแล้ว แม้ว่าเงินจะไม่สะพัดเหมือนเมื่อก่อนก็ตาม

แต่ถ้าเหมืองฯ กลับมาเปิดดำเนินการใหม่ แล้วไม่รับพนักงาน คนงานในท้องถิ่นในสัดส่วนที่เหมาะสม ต่อไปถ้าเหมืองฯมีปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คงอยู่ลำบากแน่ ๆ เพราะคนท้องถิ่นจะไม่ออกมาช่วยปกป้องเหมืองฯ อีกแล้ว เนื่องจากความคิดที่ว่าถ้าไม่มีเหมืองฯ พวกเขาก็อยู่กันได้ แม้จะไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอยกันอย่างคล่องมือก็ตาม

ต่ออายุ “ประทานบัตร” เป็นเรื่องเก่า

ทางด้าน นายสิโรจ ประเสริฐผล กรรมการบริษัท อัคราฯได้ชี้แจงว่าคำขอต่ออายุประทานบัตรทั้งหมดเป็นคำขอที่บริษัทได้ยื่นไว้ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม โดยบริษัทได้ยื่นเอกสารประกอบคำขอเพิ่มเติมตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 รวมทั้งได้ดำเนินการตามกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงยืนยันว่าด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งหลักในการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ให้ความสำคัญกับการเคารพ ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานของบริษัทไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

โดยมีพันธกิจหลักเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถิติการเป็นผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำที่มีความปลอดภัยสูงสุดแห่งหนึ่งในโลก ยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ร่วมพัฒนาศักยภาพการผลิตทองคำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตทองคำอย่างครบวงจร สร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ แผนพัฒนาพื้นที่โครงการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญประจำจังหวัด เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เมื่อเหมืองฯเสร็จสิ้นการดำเนินงานในอนาคต

มี “คนกลาง” ตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจการเหมืองฯที่ผ่านมา บริษัทได้สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศไทย เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจต่อเนื่องในประเทศเป็นเงินกว่า 32,000 ล้านบาท การชำระค่าภาคหลวงกว่า 4,500 ล้านบาท โดยร้อยละ 50 ของค่าภาคหลวงถูกจัดสรรให้แก่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเหมืองฯเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชุมชน

มีการจ้างงานโดยตรงและผ่านผู้รับเหมาของบริษัท โดยจ่ายค่าตอบแทนกว่า 1,800 ล้านบาท จากการจ้างพนักงานกว่า 1,000 คน ซึ่งร้อยละ 99 เป็นคนไทย และส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่เหมืองฯเพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้า ไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ นอกจากนี้ การจับจ่ายใช้สอยของพนักงานยังเป็นแรงสนับสนุนให้ธุรกิจท้องถิ่นขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย รวมไปถึงการสมทบเงินเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด บริษัทยังคงให้การสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและกิจกรรมเพิ่มเติมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพ สังคม การศึกษาและศาสนา

“ขอยืนยันว่าบริษัทปฏิบัติทุกอย่างตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเอกสารวิชาการที่จัดทำโดยคณะบุคคลและหน่วยงานที่เป็นกลางสนับสนุนข้อเท็จจริงเป็นจำนวนมาก เช่น โครงการตรวจวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่แหล่งแร่ทองคํา จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรายงานการตรวจสอบและประเมินมาตรฐานของเหมืองแร่ทองคำ โดยบริษัท แบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบและประเมินการปฏิบัติงานของเหมืองทองทั่วโลกกว่า 100 ปี ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เลือกให้มาตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัททุกขั้นตอน โดยผลการประเมินพบว่าการดำเนินงานทุกอย่างปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล” นายสิโรจ กล่าว.