เริ่มแล้วอย่างเป็นทางการ! สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดย นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. จรดปากกาลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธาฯ กับผู้รับจ้างก่อสร้างทั้ง 6 สัญญา วงเงินรวมประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) การันตีความโปร่งใส และเป็นธรรม

รายละเอียดทั้ง 6 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน หอสมุดแห่งชาติ วงเงิน 19,430,000,000 บาท (รวมค่า Provisional Sum และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ผู้รับจ้าง  CKST-PL JOINT VENTURE (บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ) มีเนื้องานประกอบด้วย ออกแบบควบคู่งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 4.8 กิโลเมตร(กม.) อุโมงค์คู่ลึก 16 – 35 เมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 3 สถานี ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 2 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม และงานระบบของสถานี

สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง และสถานีใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า วงเงิน 15,878,000,000 บาท ผู้รับจ้าง CKST-PL JOINT VENTURE  ประกอบด้วย ออกแบบควบคู่งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า ระยะทาง 2.4 กม. อุโมงค์คู่ลึก 23 – 46 เมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 3 สถานี ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 1 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม และงานระบบของสถานี

สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ วงเงิน 15,109,000,000 บาท ผู้รับจ้าง  ITD – NWR MRT JOINT VENTURE (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) )  ประกอบด้วย ออกแบบควบคู่งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพระพุทธยอดฟ้า ระยะทาง 3.1 กม. อุโมงค์คู่ลึก 22 – 41 เมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 สถานี ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 3 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม และงานระบบของสถานี 

สัญญาที่ 4 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพระพุทธยอดฟ้า-ดาวคะนอง วงเงิน 14,982,000,000 บาท ผู้รับจ้าง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย ออกแบบควบคู่งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงสะพานพระพุทธยอดฟ้า-ดาวคะนอง ระยะทางประมาณ 4.1 กม. อุโมงค์คู่ลึก 17-28 เมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 สถานี ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 5 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม และงานระบบของสถานี

สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง-ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) วงเงิน 13,094,800,000 บาท ผู้รับจ้าง  บริษัท อิตาเลียนไทยฯ งานประกอบด้วย ก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้ายกระดับ ช่วงดาวคะนอง-ครุใน ระยะทาง 9 กม. สถานีรถไฟฟ้ายกระดับ 7 สถานี งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม และงานระบบของสถานี อาคารจอดแล้วจร 4 แห่ง บริเวณบางปะกอก และราษฎร์บูรณะ จอดรถได้ 1,920 คัน โรงจอดรถไฟฟ้าบริเวณวงแหวนกาญจนาภิเษก 

สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ วงเงิน 3,589,000,000 บาท บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้รับจ้าง ประกอบด้วย ออกแบบควบคู่งานก่อสร้างงานระบบราง ช่วงเตาปูน-ครุใน ซึ่งเป็นระบบรางของทางวิ่งรถไฟฟ้า และระบบรางภายในโรงจอดรถไฟฟ้า งานติดตั้งรางทางวิ่ง และรางจ่ายกระแสไฟฟ้า

นายภคพงศ์ กล่าวว่า  รฟม. ได้ระบุกรอบระยะเวลาก่อสร้างงานโยธาทั้ง 6 สัญญา ไว้ที่ 2,005 วัน หรือประมาณ 5 ปีครึ่ง นับจากวันที่ รฟม. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ให้กับผู้รับจ้าง โดย รฟม. และผู้รับจ้างแต่ละสัญญา จะร่วมกันดำเนินงานก่อสร้างอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยศักยภาพสูงสุด เพื่อให้โครงการมีความก้าวหน้า และดำเนินงานได้ตามแผนงาน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 70    

หลังจากนี้ รฟม. จะเร่งประสานสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการกู้เงินภายในประเทศให้รฟม. ใช้ก่อสร้าง คาดว่าภายในกลางปี 65 เงินกู้จะพร้อมสำหรับการเบิกจ่ายค่าก่อสร้างให้ผู้รับจ้าง โดยเงินกู้ลอตแรกอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากนั้นจะทยอยกู้ลอตอื่นๆ ต่อไป พร้อมเร่งรัดจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน รวมถึงขอใช้พื้นที่สาธารณะ อาทิ พื้นที่บนถนน และบนทางเท้า กับกรุงเทพมหานคร (กทม.)  กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ซึ่งต้องส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างภายใน 120 วันหลังจากวันเริ่มงานก่อสร้าง คาดว่าช่วงกลางปี 65 รฟม. จะสามารถส่งมอบพื้นที่ และออก NTP ให้ผู้รับจ้างเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างได้

ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ และ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พ.ศ. 2563 เพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะนั้น กำหนดเวนคืนที่ดินประมาณ 410 แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้างประมาณ 500 หลังคาเรือน นอกจากเวนคืนเพื่อพัฒนาแนวรถไฟฟ้าแล้ว ยังเวนคืนเพื่อใช้ก่อสร้างเป็นจุดขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 17 สถานี และพื้นที่ก่อสร้างโรงจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) 50 ไร่ด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินกำหนดกรอบวงเงินไว้ประมาณ 1.59 หมื่นล้านบาท

ส่วนการจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า การเดินรถไฟฟ้าและการบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสีม่วงฯ วงเงินลงทุน 2.3 หมื่นล้านบาท  เป็นงานคนละส่วนกับงานโยธา  รฟม. อยู่ระหว่างจัดทำแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐ (PPP) จากนั้นจะเสนอคณะทำงานตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ให้ความเห็นก่อนนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. พิจารณาประมาณกลางปี 65 ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

หาก ครม. เห็นชอบจะเข้าสู่ขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ เพื่อพิจารณาร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Document : RFP) และเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคา (ประมูล) ตามลำดับ เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดประมูลได้ช่วงต้นปี 66 และเริ่มดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าได้ในปี 67 โดยใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี จึงจะแล้วเสร็จ เพื่อให้เปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ได้ทันตามแผนงานที่กำหนดไว้ในปี 70

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างนนทบุรี กับกรุงเทพฯ ฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรี รวมถึงสมุทรปราการ มีระยะทางรวม 23.6 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กม. 10 สถานี และยกระดับ 10 กม. 7 สถานี แนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRTสายสีม่วง) และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) 

มีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ของ รฟม. เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้ใช้บริการ ได้แก่ สถานีสามยอด เชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสถานีผ่านฟ้าในอนาคตจะเชื่อมต่อสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

อดใจรอ5ปีครึ่ง ให้รถไฟฟ้าสายสีม่วงได้เบ่งบานมาเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางของรถไฟฟ้าหลากสี 

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง