องค์การสุขภาพภาคพื้นอเมริกา หรือ “ปาโฮ” ( Pan American Health Organization – PAHO ) กล่าวว่า ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน “เป็นภูมิภาคที่สำคัญ” ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนในภูมิภาคแห่งนี้ต้องการวัคซีนอย่างทั่วถึงเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น แต่ด้วยเงื่อนไขบางประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสภาพสังคม หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตามแต่ การได้รับและจัดสรรวัคซีนในประเทศส่วนใหญ่ของลาตินอเมริกาและแคริบเบียนยังไม่ค่อยทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์ควบคุมด้านยาและเวชภัณฑ์ของรัฐบาลคิวบาประกาศ ขึ้นทะเบียนรับรองการใช้งานเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้กับวัคซีนต้านโรคโควิด-19 มีชื่อทางการค้าว่า “อับดาลา” ( ABDALA ) ชื่อทางเทคนิค “ซีไอจีบี-66″( CIGB-66 ) โดยเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พัฒนาโดยสถาบันฟินเลย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์แถวหน้าของคิวบา ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติของคิวบา

ตัวอย่างวัคซีนป้องกันโควิด-19 “อับดาลา” ของคิวบา

ทั้งนี้ ผลการทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิกในระยะที่สามของวัคซีนอับดาลา ซึ่งใช้เทคนิคที่เรียกว่า “ซับยูนิต” คือใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสโคโรนาเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ปรากฏในเบื้องต้น ว่าวัคซีนอับดาลา ซึ่งต้องฉีด 3 โดส มีประสิทธิภาพ 92.28%

ขณะที่วัคซีนอีกตัวหนึ่งซึ่งพัฒนาโดยสถาบันฟินเลย์ คือ “ฟินเลย์-เอฟอาร์-2” ( FINLAY-FR-2 ) หรือ “โซเบอรานา 02” ( SOBERANA 02 ) โดยวัคซีนตัวนี้ถือเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวแรกของโลก ซึ่งใช้เทคโนโลยีคอนจูเกต เป็นรวมแอนติเจนที่ตอบสนองได้ดีและไม่ดี เข้ากับโปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสโคโรนา มีประสิทธิภาพ 62% หลังการฉีดแล้ว 2 โดส แต่เมื่อมีการฉีดกระตุ้นเข็มที่สาม หรือ “บูสเตอร์” ที่เรียกว่า “โซเบอรานา พลัส” มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 91.2%

ด้านองค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) มีท่าทีเชิงบวกต่อความสำเร็จด้านการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของคิวบา และคาดหวังให้รัฐบาลฮาวานาส่งข้อมูลสำคัญเข้าสู่การพิจารณา เพื่อรับรองให้ใช้งานในวงกว้างได้เป็นกรณีฉุกเฉิน

แม้คิวบาเป็นประเทศอยู่ภายใต้ระบอบสังคมนิยมพรรคเดียวมานานกว่าครึ่งศตวรรษ และถูกสหรัฐคว่ำบาตรอย่างหนัก แต่คิวบาเป็นหนึ่งในประเทศที่กลไกการแพทย์ และระบบสาธารณสุขได้มาตรฐานสูงเป็นอันดับต้นของโลก เรื่องนี้จึงสร้างความคาดหวังในระดับสูงให้กับทุกฝ่ายในประเทศ

Observatorio Científico in English

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว รัฐบาลคิวบาของประธานาธิบดีมิเกล ดิแอซ-กาเนล ประกาศอย่างกระชับและได้ใจความว่า “ใครก็ตามในคิวบาที่มีศักยภาพเพียงพอ ในการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขอให้ลงมือทำสิ่งนั้นเดี๋ยวนี้” หลังจากนั้นไม่นานนัก สถาบันฟินเลย์ประกาศโครงการพัฒนาวัคซีนต่อต้านโรคดังกล่าว โดยใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน

TRT World

หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการทดสอบวัคซีนคือการใช้งานกับกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ เรื่องนี้อาจเป็นปัญหาสำหรับหลายประเทศ แต่ไม่ใช่คิวบา ประเทศขนาดเล็กที่แม้มีประชากรประมาณ 11 ล้านคน ทว่ามีหลายครั้งที่บรรดานักวิจัยต้องปฏิเสธความร่วมมือของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเสนอตัวเป็นอาสาสมัครในการทดลองกันอย่างล้นหลาม สะท้อนว่า ชาวคิวบาไม่ลังเลกับการฉีดวัคซีน และการใช้ยาที่ผลิตเองในประเทศ ด้วยความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมต่อระบบสาธารณสุข และเทคโนโลยีการแพทย์ของตัวเอง

หญิงชาวคิวบานั่งทำงานอยู่ภายในอาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งมีภาพของฟิเดล คาสโตร ติดอยู่บนกำแพง ที่เมืองซาน โฮเซ เดอ ลาส ลาฮาส

สำหรับชาวคิวบาแล้ว วิทยาศาสตร์และการแพทย์ “ไม่ใช่เรื่องการเมือง” แต่คือ “เอกลักษณ์ของความเป็นชาติ” พื้นฐานด้านระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพของคิวบา ต้องยกเครดิตให้เป็น “หนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดง” จากวิสัยทัศน์ของฟิเดล คาสโตร กับเช เกบารา ตั้งแต่ยุคปฏิวัติเมื่อปี 2502 ด้วยหลักการว่า “หากคิวบามีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง นั่นคือการปกป้องประชาชน และเป็นพันธกิจของรัฐบาลคิวบา ที่ต้องสร้างและพัฒนาสิ่งนั้นให้แก่ประชาชน”

ชื่อของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งสองตัวในคิวบา คือคำตอบจากความภาคภูมิใจของชาวคิวบาที่มีต่อเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้ง “อับดาลา” ซึ่งมาจากบทประพันธ์เกี่ยวกับความรักชาติ จากปลายปากกาของโฮเซ มาร์ตี บุคคลซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษแห่งชาติของชาวคิวบา” ปลดปล่อยคิวบาออกจากการเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของจักรวรรดิสเปน และ “โซเบอรานา” ซึ่งเป็นภาษาสเปน หมายความว่า “อำนาจอธิปไตย”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES