การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเราทุกคน ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจเป็นลำดับต้น ๆ ทั้งนี้ ได้มีการระดมฉีดวัคซีนป้องกันไปแล้วกว่า 120 ล้าน​โด๊ส (ข้อมูลถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565) แต่การป้องกันตนเองในภาวะปรกติวิถีใหม่ หรือ New normal ก็ยังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาในที่สาธารณะ รวมถึงการหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากที่เราจะระมัดระวังและให้การป้องกันเรื่องโควิด-19 อย่างเคร่งครัดแล้ว เราก็ไม่ควรละเลยที่จะให้ความสำคัญต่อการป้องกันโรคติดต่อที่สำคัญอื่น ๆ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว เนื่องจากเมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว เชื้อจะเดินทางตามเส้นประสาทไปสู่สมองซึ่งเป็นอวัยวะเป้าหมายแล้ว จะทำให้ผู้รับเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตเกือบ 100% เลยทีเดียว ดังนั้น การป้องกันโรค จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

ตามทฤษฎีแล้ว การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านั้น สามารถทำได้โดยการ “หลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์เลี้ยงไปสัมผัสกับสัตว์ที่เราไม่ทราบประวัติหรือมีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า” รวมถึง “การสร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์เลี้ยงของเรา ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำ” ทั้งนี้ การให้ความรู้แก่เจ้าของสัตว์ เกี่ยวกับอันตรายของโรค การติดต่อ การแพร่ระบาด และการป้องกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ผศ.นสพ.ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร

“ชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้มีการจัด “กิจกรรมจิตอาสา” ในรูปแบบ “โครงการค่ายรณรงค์ป้องกันพิษสุนัขบ้า” ให้กับสุนัขและแมวในชุมชนเป็นประจำและต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปีแล้ว โดยชมรมฯ จัดโครงการปีการศึกษาละ 2 ครั้ง ซึ่งเราถือว่าสิ่งนี้เป็นทั้งการบริการสังคม และถือเป็นการฝึกทักษะในวิชาชีพสัตวแพทย์ ภายใต้การดูแลของคณาจารย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งโดยปรกติแล้ว โครงการแต่ละครั้งจะใช้ระยะเวลาต่อเนื่อง 3 วัน 2 คืน และมีนิสิตเข้าร่วมประมาณ 120 คน ในแต่ละรอบ แต่เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ง่ายดาย และกว้างขวาง ทางชมรมฯ จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเป็นการออกหน่วยแบบวันเดียว เพื่อลดความเสี่ยงในการพักค้างคืน รวมถึงเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่เจ้าของสัตว์เลี้ยง เกี่ยวกับการดูแล การป้องกัน และการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า ทางเพจเฟซบุ๊ก CURabies club และ สื่อออนไลน์อื่น ๆ เพิ่มขึ้น

โครงการแรกของปี 2565 นี้ ชมรมฯ กำหนดนิสิตเข้าร่วมโครงการเพียง 80 คน ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนคณาจารย์แล้ว จะไม่เกินจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด พวกเราได้ออกหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตรวจสุขภาพ และให้ยากำจัดเห็บ-หมัด แก่สุนัขและแมวของประชาชนในตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม “ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด” เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 โดยมี นิสิตสัตวแพทย์อมริศา ดีบุกคำ ชั้นปีที่ 3 เป็นนิสิตผู้รับผิดชอบโครงการ มี ผศ.สพญ.ดร. จุฑามาส เบ็ญจนิรัตน์, รศ.นสพ.ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ และ ผศ.นสพ.ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากผู้เลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก มีเจ้าของสุนัขและแมวในพื้นที่เข้ารับบริการมากกว่า 200 ครอบครัว ซึ่งทุกคนปฏิบัติภารกิจภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัดตลอดกิจกรรม มีการคัดกรองผู้เข้าร่วมและตรวจ ATK ให้นิสิตและคณาจารย์ก่อนและหลังกิจกรรม มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์และสถานที่ออกหน่วยเป็นระยะ มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์อย่างทั่วถึง มีการควบคุมจำนวนผู้ให้และผู้รับบริการต่อพื้นที่ มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาการทำกิจกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ นิสิตสัตวแพทย์ได้รับคำแนะนำ การสอน และการดูแลโดยคณาจารย์และสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากการให้บริการฉีดวัคซีน ตรวจสุขภาพ และให้ยากำจัดเห็บ-หมัดแล้ว ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่เจ้าของสัตว์เลี้ยงด้วยการอธิบายโดยตรง ผ่านเอกสารให้ความรู้ และทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ อีกด้วย

กิจกรรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือและอำนวยความสะดวกจากหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งเทศบาลตำบลไร่ขิง กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองไร่ขิง รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นอย่างดี

ขอเรียนย้ำว่า ในฐานะที่เป็น “อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ขอขอบพระคุณทุกท่านและทุกหน่วยงาน ที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาและให้การสนับสนุนกิจกรรมของนิสิต โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคมของนิสิตชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นี้ จะเป็น “จิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ” ที่ประกอบเป็นภาพใหญ่ในการลดปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าของประเทศ และยืนยันว่ากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเช่นนี้ จะถูกถ่ายทอดและส่งต่อไปยังนิสิตสัตวแพทย์รุ่นต่อไปอย่างต่อเนื่องครับ.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย