ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากออย่างต่อเนื่อง ย่อมทำให้หลาย ๆ คน หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องกักตัว หรือ Work Form Home แล้วก็คงไม่พ้นการจ้องจอ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ หรือจอสมาร์ทโฟนที่มากเกินไป

แต่เคยทราบบ้างหรือไม่ว่า การจ้องจอที่มากเกินนั้น ส่งผลเสียต่อ “ดวงตา” มากกว่าที่คิด โดยในเรื่องนี้ ทาง พญ.ณัฐชญา ไมตรีเวช หรือ “หมอกุ๊กไก่” เคยให้ข้อมูลเอาไว้ว่า มีวิจัยออกมาชัดเจนว่า การที่เราจ้องคอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ ดูมือถือ หรือทำอะไรที่ตั้งใจจดจ่อกับมันนาน ๆ จะทำให้อัตราการกะพริบตาจะลดลงกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการตาแห้ง แสบตา ล้าตาได้ บางคนถึงกับตาเบลอ อยากหลับตา

นอกจากนี้แสงจ้า แสงสว่างของหน้าจอ ก็มีผลทำให้ดวงตาล้าได้ เนื่องจากเวลาเรามองระยะใกล้ ตาสองข้างจะกลอกเข้าใน รูม่านตาจะหดเล็กลงเพื่อโฟกัสภาพ การมองใกล้ต่อเนื่องนาน ๆ จึงทำให้ดวงตาล้าได้เช่นเดียวกัน สำหรับอันตรายที่เกิดจากอาการเหล่านั้น สามารถส่งผลให้ปวดศีรษะ ปวดตา มึนงง พร่ามัวได้ ซึ่งในเด็กก็จะเสียสมาธิ หรือเป็นคนสมาธิสั้นได้ เนื่องจากภาพมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

ส่วนแสงสีฟ้า (Blue Light) มาจากไหน??? จริง ๆ มาจากทุกหนทุกแห่ง หลัก ๆ แล้วมาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมีปริมาณความเข้มมากที่สุด หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นและหลายคนมองข้าม ไม่ทันได้ตระหนักถึงอันตราย เพราะแสงสีฟ้าถูกนำมาใช้ในอุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อเพิ่มความสว่างและความชัดของหน้าจอ เป็นสีที่ให้ความสว่างมากที่สุด โดยเฉพาะหลอด LED หรือแม้แต่ไฟหน้ารถ นาฬิกา (Smart Watch) โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ฉะนั้นทุกอย่างปล่อยแสงสีฟ้าออกมาได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะกลางแจ้งหรือในร่มก็จะเจอแสงสีฟ้าได้ตลอดเวลา

แล้วแสงสีฟ้าไม่ดีจริง ๆ เหรอ??? ต้องบอกก่อนว่าจริง ๆ แล้วแสงสีฟ้าที่เราพบเจอนั้นมี 2 ประเภท คือแสงสีฟ้าที่ดี และแสงสีฟ้าที่เป็นโทษ

“แสงสีฟ้าที่ดี” ช่วยกระตุ้นร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกมา ทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉง รู้ว่าเวลาไหนควรนอน ควรตื่น หรือแม้แต่บอกว่าควรกิน ควรถ่าย เรียกง่าย ๆ ว่า “นาฬิกาชีวิต”

ส่วน “สีฟ้าที่เป็นโทษ” จะอยู่ในช่วงคลื่นที่ 415-455 นาโนเมตร เป็นแสงที่ส่งผลเสียทำให้จอประสาทตาค่อย ๆ เสื่อมลง หากรับในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งถ้าตั้งนาฬิกาชีวิตผิด การเล่นมือถือ 2-3 ชั่วโมงก่อนนอน จะส่งผลกระทบต่อการตื่นและการนอนได้มาก อาจทำให้ต้องเผชิญภาวะนอนไม่หลับ และเกิดอาการเหนื่อยล้าในเช้าวันถัดไป
 
ขณะเดียวกันแสงสีฟ้า ยังทำให้ดวงตาเป็นอันตรายได้มากที่สุด เพราะการใช้งานติดต่อกันนาน ๆ ส่งผลกระทบต่อดวงตาโดยตรง และเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ ดังนี้
-“ดวงตาล้า” ดวงตาของคนเราต้องทำงานหนักจากการเพ่งมองภาพบนสมาร์ทโฟนที่ประกอบขึ้นด้วยพิกเซลเล็ก ๆ ที่สั่นไหวอยู่ตลอดทุกวินาที ส่งผลให้ระบบสายตาทำงานลำบากและโฟกัสภาพได้ยาก ความคมชัดลดลงและทำให้สายตาอ่อนล้า นอกจากนี้อาจตามมาด้วยอาการปวดไหล่ ปวดหัว ระคายเคืองที่ตา เจ็บตา ตาพร่าหรือเห็นภาพซ้อน ตาอ่อนไวต่อแสงแดด น้ำตาไหล ตาแห้ง และมองภาพไม่ชัดเจนได้ด้วย
-“ตาขี้เกียจ” คือภาวะที่ตานั้นไม่ได้ใช้งานนาน ๆ เช่น ถ้ามีตาข้างหนึ่งดี อีกข้างมีสายตาสั้นมาก ๆ ร่างกายจะใช้ตาข้างที่ดี แล้วไม่ใช้ตาอีกข้าง พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยมือถือ หรือแท็บเล็ตควรจะป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
-“จอประสาทตาเสื่อม” การวิจัยทางการแพทย์เผยว่า แสงสีน้ำเงินสามารถแทรกผ่านสารสีที่พบในตาและเป็นอันตรายต่อดวงตาบริเวณเซลล์ที่ศูนย์กลางเรตินา โดยจะเข้าไปลดความเข้มข้นของสารสี เกิดเป็นปัจจัยเสี่ยงให้จอประสาทตาเสื่อมเมื่อมีอายุมากขึ้น ที่สำคัญโรคนี้อันตรายถึงขั้นตาบอดได้เลย

พญ.ณัฐชญา บอกเพิ่มเติมอีกว่า แสงสีฟ้าส่งผลเสียโดยตรงกับดวงตา เพราะเป็นแสงที่เรามองเห็นได้ จึงทะลุผ่านเลนส์ตาและกระจกตาเข้าไปถึงจอประสาทตาได้ หากได้รับเป็นเวลานานจะส่งผลให้ดวงตาล้า ตาแห้ง เพราะอุปกรณ์ที่เราจ้องมองส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก ทำให้ต้องจ้องมองมากกว่าปกติ หรือจอประสาทตาอาจเสื่อมได้ เนื่องจากแสงสีฟ้าสามารถทะลุเข้าไป และทำลายเซลล์รับแสงในจอประสาทตาได้ และอาจเป็นปัจจัยสำคัญของการสูญเสียการมองเห็นได้นั่นเอง ดังนั้นจึงควรป้องกันไว้ดีกว่าแก้ หากปล่อยไว้นานอาจจะสายเกินไป
 
สำหรับเทคนิคถนอมสายตา คุณหมอกุ๊กไก่ แนะนำว่า หากหน้าจอมีสว่างจ้ามาก ๆ แต่เราอยู่ในห้องที่มืดหรือแสงสว่างไม่เพียงพอ ควรปรับความสว่างหน้าจาให้พอดีกับสิ่งแวดล้อม พักสายตาเป็นระยะ และมีทฤษฎีการใช้สายตาที่ปลอดภัยคือ 20-20-20 คือใช้สายตาจ้องมองอะไรต่อเนื่อง 20 นาที ต้องพัก 20 วินาทีโดยการมองไกล 20 ฟุต หรือ 6 เมตร เพราะให้ “กล้ามเนื้อของม่านตา” ได้ขยับไม่หดเกร็งทำให้ปวดตา

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเราแทบทุกด้าน การถนอมสายตาจากแสงสีฟ้าที่หน้าจอมือถือ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ทำได้โดยการดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา และรับประทานอาหารมีประโยชน์ ต่อดวงตา อาทิ ส้ม ฝรั่ง ฟักทอง มะละกอ เป็นต้น สุดท้ายคือ ตรวจเช็กดวงตา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งอีกด้วย…

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”