ก่อนที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่สถานการณ์ปัจจุบันโรคประจำถิ่นเจ้าเก่าอย่างไข้เลือดออกก็ดูเหมือนว่ากำลังแผลงฤทธิ์ออกมาเพราะมีปัจจัยเอื้อหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะ “ฝน” ที่เริ่มตกหลายพื้นที่ ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจำนวนมาก

ทั้งนี้เมื่อโควิด-19 และไข้เลือดออกโคจรมาปะกัน ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อ 2 อย่างที่ว่านี้กันได้ และมีโอกาสที่อาจจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น ดังนั้นในช่วงนี้ป่วยไข้ผิดสังเกตก็อย่าลืมนึกถึง 2 โรคนี้ไว้เป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งอาการมีทั้งส่วนที่คล้ายกัน และส่วนที่แตกต่างกัน โดยกรมการแพทย์ให้ข้อมูลไว้ ดังนี้

“ไข้เลือดออก” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ไข้สูงเฉียบพลัน หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นขึ้นผิวหนัง เป็นต้น ส่วนไข้เลือดออกในระยะวิกฤติ จะมีนํ้าเหลืองรั่วออกนอกเส้นเลือด ทำให้เกิดภาวะช็อก ซึ่งถ้าไม่ได้รับสารนํ้าทดแทนอย่างทันท่วงที จะทำให้เกิดภาวะช็อกนาน จนเกิดตับวาย ไตวาย และอวัยวะอื่น ๆ ทำงานล้มเหลว จนเสียชีวิตได้

“โรคโควิด-19” เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ทางละอองฝอย เสมหะนํ้าลาย ผ่านการสัมผัสเยื่อบุตา จมูก ปาก อาการคือมีไข้ หรือปวดศีรษะ อาการไข้ไม่เกิน 2- 3 วัน จะค่อย ๆ ดีขึ้น มีนํ้ามูก ไอ ก็รักษาตามอาการ หากไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบานตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94 % ซึมลง กรณีเด็กหากงอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร ถ่ายเหลว หรืออาเจียนมากต่อเนื่องกัน ควรรีบไปโรงพยาบาล

ทั้งนี้ การป้องกันของ 2 โรคมีความแตกต่างกัน โดยโรคโควิด-19 ป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ เลี่ยงการไปพบปะทำกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก หากมีความเสี่ยงก็ตรวจด้วยชุดตรวจ ATK

ส่วนกรณีไข้เลือดออกป้องกันไม่ให้ยุงกัด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย นอนกางมุ้ง ทายากันยุง และสามารถนำสมุนไพรไทยมาใช้สำหรับป้องกันยุงได้ โดยกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ได้ชูไว้ 8 ชนิด ได้แก่ ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส ผิวมะกรูด ผิวส้ม โหระพา ข่า กานพลู และสะระแหน่ เพียงแค่นำสมุนไพรอย่างใดอย่างหนึ่งมาทุบ หรือขยี้ ๆ หรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ บรรจุใส่ถุงตาข่ายเพื่อทำเป็นถุงหอม แล้วนำไปวางหรือแขวนไว้บริเวณมุมอับที่ยุงชุกชุม ก็จะสามารถไล่ยุงได้ เพราะสมุนไพรดังกล่าว มีสารสำคัญคือนํ้ามันหอมระเหยที่มีกลิ่นเฉพาะและเป็นกลิ่นที่ยุงไม่ชอบ หรือจะนำมาทำสเปรย์ตะไคร้หอมก็ได้ โดยวิธีคือ 1.หั่นตะไคร้หอมเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 200 กรัม 2.หั่นผิวมะกรูดเล็ก ๆ ประมาณ 50 กรัม 3.นำตะไคร้หอมและผิวมะกรูดที่หั่น ห่อด้วยผ้าขาวบางแล้วใส่ลงในโหลแก้ว 4.นำแอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอฮอล์) 1 ลิตร เทใส่โหลแก้ว 5.ใส่การบูร 10 กรัม ปิดฝาให้แน่นหมักไว้ 7 วัน ระหว่างที่หมักต้องเขย่าโหลแก้วทุกวัน เมื่อครบกำหนดนำมาบรรจุขวดสเปรย์และเขียนฉลากติดข้างขวดไว้ว่าสเปรย์สมุนไพรไล่ยุงใช้ฉีดไล่ยุงตามมุมอับต่าง ๆ ภายในบ้าน.

คอลัมน์     :  คุณหมอขอบอก
เขียนโดย  :  อภิวรรณ เสาเวียง