แม้จะเปิดดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว สำหรับ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ  ThaiHealth Academy สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แต่วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ได้จัดงาน OPENHOUSE เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ณ ชั้น 34 อาคาร SM Tower เขตพญาไท กรุงเทพฯ

สสส. เอง มีบทบาทในการที่เป็นกองทุนในการสร้างเสริมสุขภาพ ดังนั้น งานของเราจึงสนับสนุนงานของภาคีต่าง ๆ ของนักสร้างเสริมสุขภาพในการทำงานด้านต่าง ๆ เพราะฉะนั้น เราได้เรียนรู้ว่าศักยภาพของคนที่ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพนั้นสำคัญมาก บทบาทที่เราต้องสนับขึ้นคือด้านความรู้ ทักษะ โนฮาวต่าง ๆ เพราะงานด้านสร้างเสริมสุขภาพถือว่าเป็นงานซับซ้อน เพราะนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย ศาสตร์เหล่านี้ได้ถูกสะสมจากการทำงานจริง 10 ปี ของ สสส. ร่วมกับศาสตร์สากลนำมาผสมผสาน จึงยกระดับออกมาเป็นหลักสูตรดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เกริ่นถึงวัตถุประสงค์ของการเปิดสถาบันฯ

สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy ถือเป็นหน่วยงานลักษณะพิเศษใน สสส. ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2563 ประกาศเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ด้วยเหตุผลสองประการสำคัญ คือ 1.ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคคลด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของ สสส. ในการสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถ (Competency Development) ของภาคีเครือข่าย สสส. ในฐานะหุ้นส่วนสำคัญ (Partner) ที่ร่วมขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะในประเทศ 2.มุ่งขยายฐานผู้รับประโยชน์ไปยังกลุ่มบุคคล หน่วยงาน และองค์กรภาคสังคมต่าง ๆ ตลอดจนภาคเอกชน ในการสร้าง “นักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ” ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการก่อให้เกิดสังคมสุขภาวะทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

ทั้งนี้ ปี 2565 มีการพัฒนาหลักสูตรตามสมรรถนะหลักที่จำเป็นในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Core Competency) การจัดอบรมพัฒนาศักยภาพ จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต การประชุมวิชาการ ตลอดจนให้บริการทางวิชาการ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ และการสร้างพันธมิตรความร่วมมือเพื่อการขยายหลักสูตรหรือขยายฐานกลุ่มเป้าหมายผู้รับประโยชน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเกิดหลักสูตร งานพัฒนาศักยภาพภาคี 21 หลักสูตร, งานพัฒนาหลักสูตร หน่วยงานภายนอก 30 หลักสูตร มีผู้ได้รับประโยชน์เข้าร่วมอบรมจำนวนกว่า 2,600 ราย

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส. มุ่งหวัง ยกระดับภาคีเครือข่ายให้เป็น “นักสร้างเสริมสุขภาวะมืออาชีพ” และได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และในการตั้งเป็นสถาบันมีองค์กรที่ชัดเจน มีพื้นที่ มีผู้บริหารตรง พร้อมปรับระเบียบให้การบริหารงานในเชิงธุรกิจได้ด้วย

สำหรับผู้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพคนแรก คือ

รศ. ดร.นพ. นันทวัช สิทธิรักษ์ โดยกล่าวในวันเปิดสถาบันฯว่า สถาบันมีทิศทางที่ชัดเจน เป็นองค์กรรูปแบบกึ่งธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรม ให้บุคคลสามารถดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว รวมถึงสนับสนุนผลักดันให้สังคม สิ่งแวดล้อม อยู่ในสภาวะที่เอื้อต่อการทำให้มีสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลทางสุขภาพ และเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพพึงประสงค์

“หลักการพื้นฐานที่ สสส. วางไว้เป็นต้นแบบในการพัฒนาองค์ความรู้ คือ 5+2 Core Competency  ประกอบไปด้วย 5 สมรรถนะหลัก คือ การสร้างเสริมสุขภาวะ, การบริหารโครงการสุขภาวะ, การสื่อสารเพื่อสังคมสุขภาวะ, การสร้างและบริหารเครือข่าย, ผู้นำและทักษะในการจัดการในงานสุขภาวะ และอีก 2 สมรรถนะ คือ การจัดการความรู้ และการจัดการความยั่งยืน” รศ. ดร.นพ. นันทวัช กล่าว

รศ. ดร.นพ. นันทวัช กล่าวต่อว่า สำหรับหลักสูตรอบรมพัฒนาศักยภาพที่น่าสนใจครอบคลุมทั้งภาคีเครือข่ายสุขภาพ องค์กรภาครัฐและเอกชน อาทิ หลักสูตรนักประเมินภายในมืออาชีพเป็นการประเมินภายใน (Internal Evaluation) เครื่องมือทางสังคมอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ทำงานขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะสามารถยกระดับคุณภาพการทำงานได้ทันต่อสถานการณ์และปัญหา, หลักสูตรกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรสุขภาวะ (Transformation Strategies for Well-being Organization) สำหรับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน, หลักสูตรการผลักดันนโยบายสาธารณะ (Policy Brief / Policy Advocacy) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และหลักสูตรถอดรหัสองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Thriving & Enchanted Organization) สำหรับองค์กรภาคเอกชน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้สภาวะของการเป็นผู้นำองค์กร (Leadership)

สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ ถือเป็น “ฮับ” การเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพครบวงจร ปั้น “นักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ” แห่งแรกในประเทศไทย