ทีมข่าว “Special Report” มีโอกาสสนทนากับ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับ 2 เรื่องราวในอดีตและปัจจุบัน ที่กกต.ควรจะได้เงินและเสียเงิน! จากกรณีกกต.ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกลุ่มกปปส.ที่ประท้วงขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 กับกรณีสดๆ ร้อนๆ ที่กกต.ถูกนายสุรพล เกียรติไชยากร อดีตส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคเพื่อไทย ฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายหลายสิบล้านบาท หลังจากแจก “ใบส้ม” ให้นายสุรพลในการเลือกตั้งปี 62

ฟ้องกปปส.ขัดขวางเลือกตั้ง3.1พันล้านฯ


นายสมชัยเล่าความหลังเมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 57 และเป็นกกต.ด้วยว่า ในครั้งนั้นกกต.ได้รับความเสียหายหลายเรื่อง คือ 1.ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ได้มีผู้ชุมนุมกปปส.ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. คือเข้ามายึดสถานที่ทำงานของกกต.ส่วนกลาง และกกต.ต่างจังหวัด (10จังหวัดภาคใต้) ทำให้ต้องย้ายสถานที่ทำงานกันหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต

2.ความเสียหายต่อเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น แท่นพิมพ์ของคุรุสภา ทำให้ต้องหาสถานที่พิมพ์บัตรเลือกตั้งใหม่ และปัญหาการขนส่งบัตรฯยากลำบาก ทำให้กกต.มีต้นทุนเพิ่ม

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

3.ขัดขวางการรับสมัครส.ส. โดยเฉพาะที่สนามไทย-ญี่ปุ่นฯ มีรถยนต์ของกกต.ถูกทุบทำลายเสียหายหลายคัน ลามไปถึงการปิดหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในวันเลือกตั้ง

หลังจากเหตุการณ์สงบลงแล้ว กกต.กลาง และกกต.จังหวัดที่ถูกขัดขวางการเลือกตั้งได้สำรวจความเสียหาย เพื่อสรุปเป็นตัวเลข และทำเรื่องส่งฟ้องให้กับพนักงานอัยการ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งทุกบาท ทุกสตางค์ รวมแล้วประมาณ 3,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการฟ้องร้องตัวบุคคลในทางแพ่ง ตามไปกับคดีทางอาญา


“เรื่องดังกล่าวกกต.ในฐานะเป็นหน่วยงานรัฐได้รับความเสียหายอย่างชัดเจน สำหรับทางคดีนั้นเท่าที่ทราบคดีการขัดขวางเลือกตั้งใน จ.พัทลุง จบไปแล้ว 3 ศาล และมีติดคุกกันหลายคน สำหรับในส่วนกลางเพิ่งผ่านไปแค่ศาลชั้นต้น สั่งจำคุกแกนนำกปปส.หลายคน และอยู่ระหว่างอุทธรณ์ แต่ความเสียหายทางแพ่ง ผมไม่ทราบว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว แต่คดีแพ่งและคดีอาญาสามารถเดินคู่ขนานไปด้วยกันได้ ถึงอย่างไรสุดท้ายแล้วต้องมีคนจ่ายค่าเสียหายคืนมาให้หลวง เพราะเป็นการฟ้องร้องตัวบุคคลว่ามีใครบ้าง มีการกระทำผิดอย่างชัดเจน บรรลุผลแห่งการกระทำ และความเสียหายปรากฎชัด”

ใคร? ไม่อยู่ในห้องประชุมวันแจก“ใบส้ม”


นายสมชัยยังกล่าวถึงปัญหาของกกต.ชุดปัจจุบัน แจก “ใบส้ม” ให้นายสุรพลในคดีถวายเงินค่าบูชาเทียนวันเกิดตัวเองให้กับวัดจำนวน 2,000 บาท ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งยกคำร้องเพราะเห็นว่าไม่ใช่การซื้อเสียง ทำให้นายสุรพลยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ศาลจังหวัดฮอด จ.เชียงใหม่ แล้วมีคำพิพากษาให้กกต.ชดใช้ค่าเสียหาย 64.1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ว่ากรณีนี้เป็นเรื่องน่าห่วงมากสำหรับกกต.ชุดนี้ เพราะศาลฎีกานำร่องมาก่อน แล้วศาลจังหวัดฮอดพิพากษาซ้ำลงมาอีก


แม้ว่ากกต.ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อไปได้ แต่ผลของการอุทธรณ์จะออกมาในแนวๆ 4 ข้อนี้ ไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่ง คือ 1.กกต.ไม่ต้องจ่ายเงินเลย 2.ขอลดการจ่ายเงินให้เหลือน้อยกว่า 64.1 ล้านบาทได้หรือเปล่า 3.จ่ายเท่าเดิมที่ศาลจังหวัดฮอดพิพากษา และ 4.กกต.ต้องจ่ายมากขึ้นกว่าเก่า เนื่องจากนายสุรพลฟ้องเรียกค่าเสียหายไว้ที่ 86 ล้านบาท


สมมุติ! ถ้ากกต.ไปแพ้ในชั้นอุทธรณ์อีก ก็ไม่ต้องไปต่อในชั้นฎีกาแล้ว แต่รัฐต้องควักจ่ายแทนกกต.ให้กับนายสุรพล หลังจากนั้นต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน “ความผิดทางละเมิด” ว่านอกจากกกต. 7 คนแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่อื่นๆโดนด้วยหรือไม่ เช่น กกต.จังหวัด และเลขาฯกกต.

แต่โดยส่วนตัวเจ้าหน้าที่คนอื่นๆไม่น่าจะเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากความรับผิดชอบดังกล่าวย่อมหนีไม่พ้นกกต. 7 คน ตอนแรกตนก็งงว่าทำไมนายสุรพลจึงฟ้องเอาผิดกับกกต.แค่ 6 คน แต่ต่อมาทราบว่าวันที่ประชุมพิจารณาแจก “ใบส้ม” วันที่ 11 เม.ย.63 มีอยู่ 5 วาระเข้าสู่การพิจารณาของกกต. 7 คน แต่เมื่อถึงวาระที่ 5.4 ซึ่งเป็นเรื่องของนายสุรพล แต่มีกกต. 1 คน เดินออกไปจากห้องประชุม โดยไม่ทราบว่าเพราะสาเหตุใด มีเหตุผลจำเป็นและสมควรหรือไม่ จากนั้นกกต.ที่เหลือจึงยกมือแจกใบส้มด้วยมติ 6 ต่อ 0

กกต.หมิ่นเหม่เจอมาตรา 157 ซ้ำ!


อดีตกกต.กล่าวต่อไปว่าวันศุกร์ที่ 29 เม.ย.นี้ ตนจะไปยื่นเรื่องที่กกต. เพื่อขอทราบว่ากกต.ที่ไม่อยู่ในห้องประชุมในวันนั้นคือใคร? ทำไมจึงไม่อยู่ในห้องประชุม มีเหตุผลสมควรหรือไม่? ถ้าบอกว่านัดหมอไปทำฟัน อันนี้ไม่สมควร ซึ่งเรื่องนี้อาจเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ ตามมาตรา 18 ของพ.ร.บ.กกต. แต่ถึงแม้ 1 คนจะไม่อยู่ในห้องประชุม ถ้าสอบสวนกันแล้วว่ากกต.ชุดดังกล่าวมีความบกพร่องในการแจกใบส้ม ก็ต้องรับผิดชอบกันทั้งคณะ 7 คน แต่ถ้าอยู่ในห้องประชุมครบ 7 คน แล้วผลโหวตออกมา 6 ต่อ 1 คือ 1 คนไม่เห็นด้วยกับการแจกใบส้ม ถ้าแบบนี้ 1 คนไม่ต้องรับผิด


“ปัญหาที่น่าห่วงอีกอย่าง คือกกต.อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 157 หลังจากผมอ่านคำพิพากษารอบเดียว แต่เห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจกระจายอยู่ทั่วไปในคำพิพากษา และเชื่อว่านายสุรพลกับทนายความต้องอ่านคำพิพากษากันหลายรอบ โดยเฉพาะคำพิพากษาในช่วงท้ายของหน้า 3-4 ที่ว่า ศาลฎีกาพิจารณาแล้วพิพากษายกคำร้อง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2563 ลงวันที่ 25 ก.ย.63 คำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพิ่มข้อความที่ไม่ปรากฎในสำนวนการสืบสวนและคำวินิจฉัยซึ่งเป็นความเท็จฯ ตรงนี้อันตรายมากครับสำหรับกกต.ชุดนี้” นายสมชัย กล่าว