น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์หลังจากประกาศงบการเงินไปแล้ว พบว่าเงินฝากสิ้นเดือน มิ.ย.64 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.09 แสนล้านบาท นับเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยเป็นการปรับตัวลงในเกือบทุกธนาคาร ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลของการนำเงินฝากไปลงทุนในตัวเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และได้ทยอยเบิกใช้สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและผู้ฝากเงินรายย่อย ทำให้ภาพรวมเงินฝากสิ้นไตรมาส 2 ชะลอขยายตัวเหลือ 4% จากไตรมาสก่อนหน้า 5%

นอกจากนี้หากพิจารณาเงินฝากในกลุ่มผู้ฝากเงินรายย่อย พบว่า เงินฝากกลุ่มรายย่อยยังเติบโตในอัตราใกล้เคียงกับภาพรวมเงินฝากทั้งระบบ แบ่ง 2 กลุ่ม ได้แก่ เงินฝากรายย่อยในกลุ่มที่วงเงินต่อบัญชีสูงกว่า 1 ล้านบาท สัดส่วน 65% ของเงินฝากรายย่อยรวม ซึ่งประคองการเติบโตได้สูงกว่าเงินฝากรายย่อยในภาพรวม และเงินฝากรายย่อยในกลุ่มที่วงเงินต่อบัญชีไม่เกิน 1 ล้านบาท สัดส่วน 35% ของเงินฝากรายย่อยรวม ที่มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มวงเงินต่อบัญชีไม่เกิน 50,000 บาท และกลุ่มวงเงินต่อบัญชีเกินกว่า 50,000 บาทแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท

ขณะที่เงินให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์สิ้นเดือนมิ.ย.64 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 78,400 ล้านบาท ทำให้คาดอัตราเติบโตของสินเชื่อไตรมาส 2 ขยายตัว 4.4% แม้จะเริ่มชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่มากนัก เพราะมีสินเชื่อบางส่วนขยายตัวได้ ทั้งสินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อเสริมสภาพคล่องและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ยังคงมีกำลังซื้อ กลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบราคาประมาณ 1-3 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท

“หากขาดแรงส่งของสองกลุ่มสินเชื่อดังกล่าวที่มาจากลูกค้าที่ยังมีขีดความสามารถในการกู้เงินและสามารถบริหารจัดการผลกระทบจากโควิดได้นั้น คาดว่าจะเห็นตัวเลขอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอตัวอย่างชัดเจนขึ้น นำโดยสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นๆ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค”

น.ส.กาญจนา กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 64 ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจะทำให้ความต้องการสินเชื่อจากกลุ่มลูกค้าที่ยังพอมีรายได้หรือศักยภาพนั้น เป็นไปอย่างระมัดระวัง ทำให้การเติบโตของสินเชื่อปิดสิ้นปี 64 ในอัตราการเติบโตใกล้เคียงระดับกลางปีที่ 4.5% ซึ่งชะลอลงจากที่ขยายตัว 5.8% ในปี 63

ทั้งนี้ยอดคงค้างสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในครึ่งหลังของปี 64 มีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพียงแต่ได้แรงสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ทั้งในส่วนของการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องกับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ และการเร่งอนุมัติสินเชื่อผ่านโครงการสินเชื่อฟื้นฟู ขณะที่การช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ น่าจะส่งผลทำให้การชำระคืนหนี้ช้าลง และลดแรงกดดันต่อยอดคงค้างสินเชื่อในภาพรวม

อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อใหม่ในส่วนอื่นๆ น่าจะเริ่มชะลอลง เนื่องจากสถานการณ์โควิดในประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งทำให้ทั้งฝั่งลูกค้าชะลอความต้องการสินเชื่อเพื่อลงทุนออกไป ขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินยังคงต้องประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตจากการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง