ได้รับการพูดถึงอย่างร้อนแรงในตอนนี้ สำหรับภาพยนตร์ดราม่าเรื่องดังของอินเดีย “Gangubai Kathiawadi (คังคุไบ กฐิยาวาฑี) หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” ทาง “เน็ตฟลิกซ์ ” ที่ถ่ายทอดจากหนังสือ “Mafia Queens of Mumbai” เขียนโดย ฮุสเซน ไซดี อ้างอิงจากชีวิตจริงของ คังคุไบ กฐิยาวาฑี หรือ “Madam of Kamathipura (มาดามแห่งกามธิปุระ)” ผู้ลุกขึ้นสู้ เพื่อยับยั้งการย้าย “ซ่อง” ออกจากเมืองกามธิปุระ และยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของผู้หญิง เรียกร้องสิทธิของ “Sex Worker” หรือ “โสเภณี” ในอินเดีย ให้ถูกกฎหมายอีกด้วย

โดยได้ อเลีย บาตต์ นักแสดงระดับแถวหน้าค่าตัวแพงของบอลลีวู้ด มารับบท “คังคุไบ” สาวงามที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดง แต่เธอกลับถูกแฟนหนุ่มทรยศ หลอกพามาขายให้ซ่องแห่งหนึ่ง ในย่านเสื่อมโทรมของเมือง “กามธิปุระ” แห่งนครมุมไบ ด้วยราคาค่าเชื่อใจเพียง 1,000 รูปี ก่อนที่ “คังคุไบ” จะเปลี่ยนความเศร้ากลายเป็นพลัง เผชิญหน้ากับโชคชะตาชีวิตที่แสนโหดร้าย ด้วยการลุกขึ้นสู้ ไต่เต้าจากโสเภณีเป็นนายหญิงเจ้าของซ่อง ก่อนใช้ความฉลาด จิตใจที่แข็งแกร่ง และปณิธานที่แน่วแน่ในการช่วยเหลือผู้หญิงอีกว่า 4,000 ชีวิตที่ต้องพบชะตากรรมเดียวกับเธอให้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีศักดิ์ศรีและสิทธิในแบบที่พวกเธอสมควรได้รับ จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกดูแลเมือง “กามธิปุระ”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผู้ชมได้เต็มอิ่มในทุกองค์ประกอบ ทั้งในเชิงอารมณ์และงานศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงของ อเลีย บาตต์  ที่ถ่ายทอดบทบาทได้อย่างทรงพลัง ไปจนถึงพล็อตเรื่องที่ลื่นไหล โปรดักชั่น คอสตูมอลังการ จังหวะการเล่าเรื่องและมุมภาพที่งดงาม และที่ขาดไม่ได้คือเพลงเพราะ ๆ ที่มีมาให้เสพแบบครบรส พาแฟน ๆ อินกับเรื่องราว ทั้งหัวเราะและร้องไห้ร่วมไปกับเหล่าตัวละคร

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ทวีความยอดเยี่ยม นั่นคือบทที่คมคาย โดยมีหลายประโยคจาก “คังคุไบ” ที่ฟังแล้วบาดลึก โดยเฉพาะช่วงกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสตรีที่ Azad Maidan ทั้ง “เรามีศักดิ์ศรีมากกว่าพวกคุณอีก คุณเสียศักดิ์ศรีไปครั้งหนึ่ง มันจะหายไปตลอดกาล แต่พวกเราขายมันทุกคืน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่หมดสักที…” หรือ “ใครโผล่หน้ามาที่ประตูของเรา เราก็ไม่ตัดสินพวกเขา ไม่ถามถึงศาสนา วรรณะ จะผิวเข้มหรือผิวขาว รวยหรือจนคือจ่ายเท่ากัน เราไม่เลือกปฏิบัติ แล้วทำไมผู้คนถึงเลือกปฏิบัติกับเรา…”  รวมทั้ง “รู้ไหมอาชีพเก่าแก่ที่สุดคืออะไร โสเภณีไงล่ะ ถ้าไม่มีพวกเรา แม้แต่สวรรค์ ก็ไม่สมบูรณ์…” นอกจากนี้ยังมี “ไม่ใช่เราไม่สำคัญกับผู้คน เราสำคัญนะ สำหรับนักการเมือง เราคือคะแนนเสียงของพวกเขา สำหรับตำรวจ เราก็เป็นแค่ธนบัตร สำหรับผู้ชาย เราเหมือนเสื้อกันหนาว และสำหรับผู้หญิง… พวกคุณรู้ดีกว่าเราเป็นใคร เรามีไฟในตัวแต่ยังเบ่งบานเหมือนดอกกุหลาบ เราสนองตัณหาของผู้ชาย และปกป้องศักดิ์ศรีของผู้หญิง…” และ “ลูก  ๆ ของเราไม่มีสิทธิได้รับการศึกษาเหรอ ลูกหลานเราก็เหมือนลูกหลานของคุณ พวกเขาก็เป็นอนาคตของอินเดียไม่ใช่เหรอ…” ที่ล้วนกระแทกใจ

นอกจากนี้ยังมีประโยคประทับใจ ที่ “คังคุไบ” กล่าวหลังได้รับเลือกเป็นนายกดูแลเมือง “กามธิปุระ” ว่ “ขอพูด 3 อย่าง ข้อแรกคนจะคิดว่าเราไม่ซื่อสัตย์ก็ไม่เป็นไร แต่ทำงานสกปรกด้วยความซื่อสัตย์ ด้วยความจริงใจอย่างที่สุด ข้อสองดอกไม้มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติของมัน ไม่ว่าจะในวัด ศาลเจ้า ในซ่อง หรืองานศพ เผยแพร่กลิ่นหอมของตัวเองออกไป ทำให้ลูกค้าพอใจอย่างเต็มที่ แต่อย่าลืมรับค่าจ้างให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เราต้องการความก้าวหน้า และข้อสามใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี อย่าได้กลัวใคร ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ สมาชิกสภา รัฐมนตรี หรือแมงดา ไม่ต้องกลัวใครทั้งนั้น ในเมื่อผู้หญิงเป็นศูนย์รวมอำนาจ ความมั่งคั่งและสติปัญญา อะไรทำให้ชายพวกนี้คิดว่าตัวเองเหนือกว่าเรา…”

นอกจากตัว “คังคุไบ” ที่เป็นฟันเฟืองหลักในการลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมครั้งนี้แล้ว เหล่าแรงซัพพอร์ทที่มีส่วนในเรื่องนี้ก็สำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะมาเฟีย “ราฮิม ลาลา” ที่รักและเอ็นดู “คังคุไบ” เหมือนน้องสาว พร้อมคอยสนับสนุนเธออยู่เบื้องหลัง, นักข่าว “ฮามิด เฟซี” ที่นำเรื่องราวของเธอไปตีแผ่ให้ทั่วโลกได้รู้ รวมถึง นายกรัฐมนตรี ชวาหะร์ลาล เนห์รู ผู้ที่ยอมให้ “คังคุไบ” เข้าพบพร้อมรับฟังปัญหาและข้อเรียกร้อง ทั้งหมดเหมือนภาพสะท้อนให้เห็นว่า “ความเท่าเทียม” จะเกิดขึ้นได้จริงนั้นไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่งที่จะลุกขึ้นสู้  แต่เป็นสิ่งที่ “มนุษย์” ทุกคนไม่ว่าเพศอะไรก็ตาม ต้องมองเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นคนให้เท่ากัน และพร้อมจะยืนหยัดเพื่อมัน!

 ต้องบอกว่า “โสเภณี” เป็นหนึ่งในอาชีพที่โดน “ดูถูก” และถูก “กีดกัน” จากสังคมมากที่สุด ทั้งที่คนมาใช้บริการหาความสุขจากพวกเธอก็ล้วนมาด้วยความเต็มใจ ซึ่งหนังเรื่องนี้ตีแผ่และจี้จุดปัญหาสังคมนี้ได้เฉียบคม ทำให้ฉุกคิดและเข้าใจ มองเห็นศักดิ์ศรีความคน ไม่ว่าจะทำอาชีพไหนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเรื่องราวใน “หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” ไม่เพียงสะท้อนภาพแค่ในอินเดียเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่มีปัญหาเหล่านี้ รวมถึงในประเทศไทยที่ถูกบันทึกว่ามี “โสเภณี” มาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับการรองรับ “Sex Worker” ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันด้วยกรอบศีลธรรมและความเหมาะสม จึงทำให้คนทำอาชีพเหล่านี้ถูกผลักไสให้หล่นขอบการคุ้มครองในด้านสวัสดิภาพ และสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย รวมถึงภาษีที่ควรเก็บจากรายได้ของอาชีพดังกล่าว เพื่อนำมาใช้พัฒนาประเทศ ก็กลายเป็นส่วยที่ส่งให้ผู้มีอิทธิพลเฉพาะกลุ่มแทน  

สุดท้ายถ้าลองเอาคำว่า “อาชีพ” ออก แล้วมองว่าเป็น “คน” ที่หารายได้อย่างสุจริตโดยเต็มใจ และไม่ได้ทำร้ายใคร คิดว่าพวกเธอควรได้รับสิทธิและการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมหรือไม่!? เชื่อว่าทุกคนคงมีคำตอบในใจของตัวเองกันอยู่แล้ว!

ชาวบ้าน 1/4

ภาพ : Pen India Limited / Netflix