เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิสร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุ ว่า “ดูแลระบบระบายน้ำ “หน้าที่ผู้ว่า” แต่ไม่ทำ!” เมื่อวานฝนตกหนัก แต่ระบบระบายน้ำกลับเป็นอัมพาต! การบริหารของผู้ว่า กทม. ที่ผ่านมาปล่อยให้ระบบการระบายน้ำของกรุงเทพฯขาดการดูแลแบบนี้ได้อย่างไร หัวใจของการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังใน กทม. อยู่ที่การจัดสรรงบประมาณ แต่ถ้าเราไปดูตัวเลขงบประมาณ งบที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมกลับถูกตัดเหี้ยน งบซ่อม สร้างสถานี-ประตู-บ่อสูบน้ำ โดนตัดไป 5,170 ล้านบาท เหลือ 136 ล้านบาท งบข้อมูลพยากรณ์อากาศและน้ำท่วม โดนตัดไป 295 ล้านบาท เหลือ 68 ล้านบาท งบสร้างแก้มลิง โดนตัดไป 1,463 ล้านบาท เหลือ 96 ล้านบาท งบเครื่องสูบน้ำและรถเคลื่อนที่เร็ว โดนตัดไป 1,005 ล้านบาท เหลือ 0 บาท (ย้ำว่าศูนย์บาท) ยังไม่รวมงบโครงการพื้นฐานในการลอกท่อลอกคลองที่โดนตัดไป 7,144 ล้านบาท เหลือ 521 ล้านบาท ในขณะที่งบสร้างอุโมงค์ยักษ์ 2,000 ล้านบาท ที่ไม่มีการเบิกจ่ายเลยกลับไม่โดนตัดซักบาท ข้อมูลจาก Rocket Media Lab บอกว่าการลอกท่อช่วงเดือน ธ.ค.63 ถึง พ.ค.64 ทำได้เพียง 7.51% จากความยาวท่อทั้งหมดในกรุงเทพฯ แล้วจะไม่ให้น้ำท่วมขังได้ยังไง! ผู้ว่าฯ ต้องจัดสรรงบใหม่ และเร่งรัดการลอกท่อลอกคลองทั่วกรุงเทพฯ ก่อนฤดูฝนให้ได้

นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า นโยบาย “ลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง” จบปัญหาน้ำรอระบาย ปัญหาน้ำท่วมแก้ได้ ไม่ต้องใช้เมกะโปรเจคท์ เพียงแค่ดูแลระบบระบายน้ำทั่ว กทม. ให้ใช้งานได้จริง ตลอดเวลาที่ผ่านมา กทม.จัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่ไม่เอื้อต่อการจัดการปัญหาน้ำท่วมเท่าใดนัก โดยงบขุดลอกคูคลอง บำรุงรักษาสถานีสูบน้ำ ที่จะสามารถช่วยบรรเทาน้ำท่วมได้ในวันนี้กลับได้รับงบน้อยจนไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน ส่วนอุโมงค์ยักษ์ที่ยังไม่สามารถใช้การได้ในเร็ววันนี้กลับได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมาก ในส่วนการขุดลอกคูคลองที่หากทำได้ดีก็จะสามารถช่วยระบายน้ำได้มาก ก็มีปัญหาการทุจริต เนื่องจากกรุงเทพฯประเคนงานให้กับเอกชนเพียงไม่กี่ราย เมื่อมีผู้รับเหมาน้อยรายสุดท้าย ก็ไม่สามารถขุดลอกคูคลองได้ทัน มากไปกว่านั้นเอกชนที่มาประมูลงานจำนวนมากไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินงานให้แล้วเสร็จด้วยตนเอง แต่เข้ามาประมูลงานเพื่อฟันหัวคิว แล้วไปจ้างช่วงให้บริษัทอื่นมาทำงานต่ออีกที กรุงเทพฯจึงจำเป็นต้องเริ่มการประมูลหาผู้รับเหมาอย่างเป็นธรรม หยุดประเคนงานให้กับผู้รับเหมาเพียงไม่กี่ราย รวมทั้งออกกฎระเบียบห้ามจ้างช่วง หากเอกชนรายใดไม่มีศักยภาพที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วง ก็ห้ามประมูลงานเพื่อไปจ้างช่วงฟันหัวคิว

นายวิโรจน์ ระบุว่า สิ่งที่เราจะทำ เปลี่ยนงบอุโมงค์ยักษ์ 2,000 ล้านบาท เป็นขยายท่อระบายน้ำ ขุดลอกท่อและคูคลอง เพื่อให้ “น้ำรอการระบาย” ระบายได้เร็วขึ้น เมื่อฝนตกน้ำไม่ท่วม แยกระบบท่อน้ำฝน-ท่อน้ำเสีย เพื่อให้สามารถบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพ ตั้งศูนย์รวมการจัดการน้ำไว้ที่เดียว (Single Command) เพื่อให้ข้อมูลทันสถานการณ์ การตัดสินใจทำได้รวดเร็ว หน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมลอกท่อเมื่อฝนตกระดับวิกฤตปรับปรุงสถานีสูบน้ำ โดยเพิ่มระบบสำรองไฟสถานีสูบน้ำที่ต้องใช้ automatic transfer เปลี่ยนเฟสไฟ และใช้ระบบ iot ควบคุมเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติ ไม่ต้องรอไขกุญแจ