เมื่อวันที่ 26 พ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 75 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าพบเพื่อแสดงความยินดีกับ นายเทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) อีกหนึ่งวาระ นอกจากนี้ยังได้หารือกับนายเทดรอส เพื่อขอขอรับการสนับสนุนเรื่องวัคซีนฝีดาษคน (Smallpox) จากองค์การอนามัยโลก แม้ว่าตอนนี้ยังไม่พบผู้ป่วยต้องสงสัยโรคฝีดาษลิง ในประเทศไทย แต่เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นจึงเตรียมพร้อม เฝ้าระวังคัดกรองโรคในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ นายอนุทิน เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกร่วมในพิธีเปิดศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ที่กรุงเทพฯ ด้วย

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

ขณะที่ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ฝีดาษลิงหรือฝีดาษวานร ปกติจะเจอผู้ป่วยในแอฟริกา แต่ตอนนี้ที่ทุกประเทศต้องกังวลและเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง เนื่องมีการระบาดในบางประเทศยุโรปและพบผู้ป่วยในหลายประเทศที่ไม่มีประวัติไปแอฟริกา แสดงว่ามีการแพร่กระจายเชื้อในประเทศนั้น โดยมีประวัติเชื่อมโยงถึงการเข้าร่วมกิจกรรมหนึ่งที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมากและจากหลากหลายประเทศ และมีกิจกรรมที่สัมผัสใกล้ชิดกันมาก ๆ จนทำให้ติดเชื้อในหลายประเทศ ซึ่งโรคนี้การติดเชื้อโดยหลักยังเป็นการต้องสัมผัสใกล้ชิดโดนสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และแพร่เชื้อระยะที่มีอาการแล้ว เช่น มีตุ่ม หรือแผล ทำให้สังเกตได้ชัดเจน

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ 5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ออกหนังสือชี้แจงกรณีโรคฝีดาษวานร โดยระบุข้อหนึ่งว่า วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จะป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ด้วย แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปต้องเร่งรีบหาวัคซีนนี้ เนื่องจากโรคนี้ยังถือเป็นการระบาดในวงจำกัดอยู่ในต่างประเทศ และประเทศไทยไม่เคยพบการติดเชื้อนี้มาก่อน ยังถือว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไม่มาก และคนที่เคยได้รับวัคซีนนี้แล้วยังสามารถป้องกันโรคได้อยู่ มีการศึกษาพบว่าผ่านไป 80 ปีภูมิคุ้มกันยังใช้ป้องกันได้

“ความเสี่ยงของประเทศไทยตอนนี้ ยังไม่ถึงขั้นต้องรีบให้วัคซีน เพราะตอนนี้ยังเป็นการระบาดอยู่ในวงจำกัดในต่างประเทศ ต้องติดตามว่าจะมีการระบาดมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร ซึ่งปัจจุบันคนกลัวเรื่องโรคระบาดมาก ทำให้เมื่อพบการติดเชื้อที่ผิดปกติจะมีการแจ้งเตือนเร็ว ทำให้แต่ละประเทศมีการเริ่มกลไกการรับมือ เฝ้าระวังได้เร็ว การจัดการปัญหาทำได้เร็ว ปัญหาก็น้อยลง” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว.