เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (28 มิ.ย.) ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ พ.949/2560 หรือคดีที่นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เหยื่อซ้อมทรมาน เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลย จำนวน 13 ล้านบาท

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2552 นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ขณะมีอายุเพียง 18 ปี เท่านั้น ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดจับกุมและซ้อมทรมานทำร้ายร่างกาย โดยมีการใช้ถุงดำคลุมศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ เพื่อบังคับให้รับสารภาพในคดีวิ่งราวทรัพย์

ซึ่งจากการสืบสวนในภายหลังพบว่าเป็นการจับผิดคน ต่อมาเมื่อปี 2558 นายฤทธิรงค์จึงได้ฟ้องดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าวรวม 7 นาย โดยในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถือว่าถึงที่สุดว่า พ.ต.ท.วชิรพันธ์ โพธิราช จำเลยที่ 3 กระทำความผิดจริง ตามประมวลอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง, 295, 296, 309, 310 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จึงลงโทษฐาน “เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา กระทำการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ” ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด โดยลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 12,000 บาท แต่ศาลลดโทษให้โดยเห็นว่าคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท

เมื่อคำนึงถึงประวัติ อาชีพ และสภาพความผิดแล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัว กล่าวคือรอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี

ต่อมา นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร จึงได้ฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560 โดยเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และขอให้ลบทะเบียนประวัติอาชญากรของโจทก์ออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อเป็นการชดเชยความเสียหายต่อร่างกายจากการถูกซ้อมทรมานด้วยการทำร้ายและการคลุมถุงดำบังคับให้รับสารภาพ ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้อำนาจกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ชอบ กระทำให้โจทก์และครอบครัวเสียชื่อเสียง รวมทั้งต้องแบกรับบาดแผลทางจิตใจและภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาและดำเนินคดีมาตลอด 13 ปี

ในวันนี้ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า “บาดแผลตามเนื้อตัวร่างกายของโจทก์ที่ปรากฏตามผลชันสูตร โดยแพทย์ผู้ตรวจบาดแผลตรวจบาดแผลมีการกดเจ็บที่ข้อมือสองข้าง กดเจ็บที่คอด้านหลัง ไม่พบบาดแผลที่ท้อง มีลอยถลอกด้านซ้ายบน ที่ท้องด้านซ้ายล่าง ใช้เวลารักษา 3 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์พบเพียงบาดแผลถลอกบนร่างกาย

และโจทก์เบิกความว่า ถูกทำร้ายร่างกายโดยใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะและมัดรวบด้านหลังทำให้ขาดอากาศหายใจ โดยกระทำหลายครั้งทั้งที่ยังใช้ถุงคลุมหลายใบครอบหลายชั้นจนขาดอากาศจนโจทก์มีอาการชักเกรง รวมทั้งใช้เข่ากดบริเวณลำตัวไม่ให้ดิ้น ทั้งข่มขู่ว่าหากโจทก์ไม่รับสารภาพ ถ้าโจทก์ตายจะนำศพไปทิ้งที่เขาอีโต้ เป็นเพียงคดีคนหายเท่านั้น เพียงเพื่อให้รับสารภาพว่าได้กระทำความผิดอาญา

การกระทำทั้งโจทก์เป็นการทรมานโจทก์ในฐานะผู้ต้องหาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อไม้ให้เกิดร่องรอยบาดแผลบนลำตัวของโจทก์และเป็นการป้องกันตนเองให้พ้นจากความรับผิดทางกฎหมาย ถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนตามกฎบัตรของสหประชาชาติและกฎหมายรัฐธรรมนูญอีกด้วย”

โดยศาลได้กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ประกอบด้วย ค่าเสียหายต่อชีวิตร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จำนวน 1 ล้านบาท ค่าเสียหายต่อการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 น. จำนวน 8 หมื่นบาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงโดยคำนวณจากสถานภาพของโจทก์ขณะถูกทำร้ายและโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต ให้ 3 แสนบาท และสุดท้ายค่าเสียหายต่อจิตใจ โดยศาลได้พิจารณาจากคำเบิกความของแพทย์ที่รักษาโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี ว่าโจทก์มีอาการทางจิตเวชหรือ PTSD หรือโรคเครียดอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าว จำนวน 2 ล้านบาท

จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,380,000 บาทแก่โจทก์ โดยให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 หากรวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง เป็นจำนวนเงิน 6,844,500 และให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

ส่วนคำขอให้ลบประวัติอาชญากรของโจทก์ออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น ศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอดังกล่าว