เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางตรวจเยี่ยมสำนักข่าวออนไลน์ “THE STANDARD” ภายในซอยศูนย์วิจัย ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เพื่อกล่าวแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี “THE STANDARD OPEN HOUSE 5th ANNIVERSARY OF US” โดยมี นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวออนไลน์ THE STANDARD ให้การต้อนรับพร้อมพาเยี่ยมชมออฟฟิศ และชิมกาแฟที่ส่งตรงมาจากเชียงใหม่

นายชัชชาติ กล่าวว่า THE STANDARD ถือว่าเติบโตได้รวดเร็ว เพราะว่าเป็นสื่อที่เข้าใจผู้เสพสื่อ อีกทั้งยังเป็นสื่อที่มีการสรุปได้ดี สิ่งสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงของสื่อในช่วงนี้คือเรื่องความเร็วและการสรุป ไม่ควรเน้นดราม่าเยอะ เพราะดีแค่ช่วงระยะสั้น ส่วนในระยะยาว คนต้องการสื่อที่มีข้อมูล ข้อเท็จจริง มีเหตุผล และมีคุณภาพ ซึ่งจะสามารถดึงคนได้ทุกกลุ่ม ส่วนเรื่องที่หลายคนมองว่า สื่อชอบทำให้เกิดความแตกแยก ไม่นำเสนอข่าวที่สร้างสรรค์นั้น ส่วนตัวไม่โทษสื่อมาก เพราะว่าผู้อ่านก็ต้องมีภูมิคุ้มกัน อ่านแล้วต้องคิดก่อน ในส่วนสื่อเองก็ต้องพยายามลดเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกลง และเสนอข่าวหลาย ๆ ด้านด้วย

นอกจากนี้ THE STANDARD ได้แสดงเจตจำนงร่วมปลูกต้นไม้จำนวน 5,000 ต้น ตามนโยบาย “ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง” ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะได้มีกิจกรรมร่วมกันในโอกาสต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังได้โชว์ทักษะอาจารย์เก่าสอนวิธีการคำนวณหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าออกมา เพื่อสะท้อนกับต้นทุนของการเดินรถและปัญหาของสัญญาที่แท้จริง โดยระบุว่า “ต้นทุนราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าต้องดูจากหลายปัจจัย ปัจจุบันรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่เปิดให้นั่งฟรี มีประชาชนใช้บริการกว่า 27% ซึ่ง กทม.ต้องใช้งบประมาณจ้างบริษัทในการเดินรถให้ และเมื่อพูดถึงราคาค่าโดยสารที่พูดมาโดยตลอดคิดจากฐานเฉลี่ยของการใช้บริการ การคำนวณเราต้องดูจากค่าเฉลี่ยไม่ใช่การดูทั้งสาย ปัจจุบันผู้โดยสารต่อคนใช้บริการเฉลี่ย 8 สถานี เวลาที่พูดถึงค่าโดยสาร BTS อย่าพูดถึงตลอดสาย เพราะตลอดสายไม่มีใครนั่งจากคูคตไปปากน้ำ ต้องดูว่าเฉลี่ยแล้วคนนั่งเท่าไร จ่ายเท่าไร

ปัญหาต้องแก้ทีละขั้น หลักๆ ที่ต้องดูคือปัญหาเรื่องหนี้จากการรับโอนมา และสัญญาจ้างจากปี 72-85 เป็นอย่างไร ซึ่งมีรูปแบบที่ชัดเจน หลังจากปี 2572 รถไฟฟ้าจะโอนมาเป็นของ กทม. ซึ่งเราจะสามารถจัดเก็บค่าโดยสารได้ 100% แต่ต้องเสียค่าจ้างเดินรถอยู่ จนถึงปี 2585 หากเก็บค่าโดยสารน้อยไป กทม. ก็ต้องนำเงินไปจ่ายค่าเดินรถอีก ดังนั้นเก็บรายได้มาต้องคุ้มกับค่าจ้างเอกชน ไม่ใช่เอาภาษีของทุกคนไปจ่ายค่าจ้าง และเชื่อว่าคน กทม. จำนวนมากไม่ได้นั่งรถไฟฟ้า”