เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (5 ก.ค.) ที่ กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ​ กรุงเทพฯ ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช หรือทนายกระดูกเหล็ก ได้พานายรมย์รวินทร์ ธัญเศรษฐ์กุล กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท เดอะ นิว คอนเซปท์ พร็อพเพอร์ตี้ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ระบุว่าสืบเนื่องจากถูกกลุ่มคนร้องเรียนที่ สภ.หางดง ว่ามีความผิดทางอาญา ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้บุกเข้ามายึดอายัดทรัพย์สินของโครงการคอนโดฯหรู จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมมูลค่า 1,200 ล้านบาทนั้น โดยวันนี้มี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับเรื่องดังกล่าวแทน รมว.ยุติธรรม

ทนายอนันต์ชัย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2564 ทางบริษัทดำเนินโครงการอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับการร่วมลงทุนคอนโดมิเนียม และมีผู้สนใจกว่า 2,000 ราย มีสัญญาว่าเมื่อลงทุน จะต้องชำระเงินค่าห้องพักเต็มราคาก่อนแล้วจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 8% ตามกำหนด แต่ต่อมาเกิดขาดสภาพคล่องเพราะสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถขายโครงการได้ทำให้ผู้ร่วมลงทุนบางรายไม่ได้รับผลตอบแทนตามกำหนด จึงรวมตัวกัน 80 คน เข้าแจ้งความดำเนินคดีที่ สภ.หางดง จ.เชียงใหม่ กระทั่งดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ เข้าอายัดทรัพย์สินโครงการ รวมมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ผ่านมา โดยมองว่าโครงการดังกล่าวอาจเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้ร่วมลงทุนอีก 1,200 คน ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ทนายอนันต์ชัย กล่าวอีกว่า มีลูกค้าบางรายที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน 8% ตามสัญญาเนื่องจากบริษัทฯ ขาดสภาพคล่อง ได้นำคดีไปฟ้องที่ศาลแขวงเชียงใหม่ว่า บริษัทฯฉ้อโกง ซึ่งศาลพิพากษาว่า เป็นการผิดสัญญาทางแพ่งบริษัทฯไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง และพิพากษายกฟ้อง ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.6343/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2381/2564 ของศาลแขวงเชียงใหม่ หลังจากนั้น มีลูกค้าประมาณ 80 กว่ารายไปร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับคำร้องทุกข์ไว้ตามคดีพิเศษที่ 244/2565 แต่ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่บริษัทฯ คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนว่า มีมูลความผิดทางอาญาตามมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หรือไม่ โดยบริษัทฯ เชื่อมั่นในความสุจริตว่า การประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 เพราะบริษัทฯไม่ได้นำเงินจากลูกค้ามาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ลูกค้า และการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตรา 8% ต่อปี ตามสัญญาให้แก่ลูกค้านั้น ก็เป็นเงินที่มาจากผลประกอบการของบริษัทฯ ดังนั้น การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของบริษัทฯโดยมิได้ทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อทราบรายละเอียดแห่งความผิดและข้อเท็จจริงให้รอบด้านโดยชอบย่อมทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหายและส่งผลกระทบต่อลูกค้า

ทนายอนันต์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อตรวจสอบกระบวนการทำงานดังกล่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว จึงต้องมายื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมถึง รมว.ยุติธรรม ให้ตรวจสอบการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า เป็นไปตามขั้นตอนการสืบสวนและสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (10), (11) หรือไม่ เพราะหากพนักงานสอบสวนได้พิจารณารายละเอียดแห่งความผิดและข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานทั้งหมด ยังต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติมจากฝ่ายบริษัทและต้องดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาให้รับทราบตามขั้นตอน นอกจากนี้ยังเตรียมยื่นคำพิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่ เพื่อประกอบคำร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในการปฏิบัติงานครั้งนี้ว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดสถานใด เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้รับความเป็นธรรมถึงที่สุด

ด้าน นายรมย์รวินทร์ เปิดเผยว่า บริษัท เดอะ นิว คอนเซปท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ได้ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 โดยในปี พ.ศ. 2554 ได้ริเริ่มทำโครงการคอนโดเพื่อการลงทุน โดยการขายห้องชุดให้กับลูกค้า โดยลูกค้าจะได้รับผลตอบแทน 8% ต่อปีในระหว่างก่อสร้าง และได้รับผลตอบแทน 8% ต่อปี นับแต่วันโอนกรรมสิทธิ์ตามระยะเวลาที่ระบุในสัญญา โดยโครงการแรก ชื่อ โครงการเดอะ นิวคอนเซปต์ เรสสิเด้นท์ ประกอบไปด้วย อาคารพักอาศัย 5 อาคาร และอาคารพาณิชย์อเนกประสงค์ 1 อาคาร ต่อมาก็ได้ขยายโครงการออกไปเป็นโครงการที่ 2 คือ โครงการพูลวิลล่า จากนั้นได้ขยายโครงการต่อมาตามลำดับรวมเป็น 18 โครงการ โดยระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 5-6 ปี (ก่อนโรคโควิด-19 ระบาด)

นายรมย์รวินทร์ เผยต่อว่า บริษัทฯได้ดำเนินการก่อสร้างห้องชุดแล้วเสร็จ 100% และโอนให้แก่ลูกค้าแล้วจำนวน 7 โครงการ มากกว่า 500 ห้อง โครงการที่ก่อสร้างเสร็จมากกว่า 50% จำนวน 4 โครงการ และโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 7 โครงการ ซึ่งบริษัทฯได้นำห้องชุดที่โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ลูกค้าดังกล่าวไปให้เช่าและจ่ายผลตอบแทน 8% ให้ลูกค้าได้ตามสัญญาจริง โดยมีผลประกอบการที่ชัดเจน และบริษัทฯ ได้ส่งงบการเงินต่อกรมสรรพากรแสดงต่อสาธารณะ ต่อมา ปี พ.ศ. 2563 เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ไปทั่วโลก รัฐบาลประกาศปิดประเทศ เศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้บริษัทฯ ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถขายโครงการได้ บริษัทฯได้พยายามแก้ไขสถานการณ์โดยได้รับเงินกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารออมสิน มาประคองกิจการ นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนกับบริษัทอื่นอีก 2 บริษัท โดยคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติภายในปี 2565

นอกจากนี้ นายรมย์รวินทร์ ยังเผยว่า ตนได้ติดต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ หลายครั้งเพื่อเข้ามาชี้แจง หากตั้งใจจะโกงจริงคงหนีไปแล้ว แต่ก็ยังปักหลักต่อสู้และพูดคุยเยียวยากับผู้เสียหายที่เหลือ ส่วนเรื่องเงินลงทุนและรายได้ยืนยันว่ามีอยู่จริง โดยเห็นได้จากการไปกู้เงินจากธนาคารต่างๆ หลายธนาคารและได้รับการอนุมัติวงเงิน หากไม่มีหลักทรัพย์หรือความน่าเชื่อถือจริงก็คงไม่ได้วงเงินต่างๆ ยืนยันว่าเงินรายได้และที่มาจากผู้ลงทุนเอาไปก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ซึ่งมีการก่อสร้างแล้วเสร็จและโอนโฉนดไปหนึ่งแล้ว ส่วนผู้เสียหายทั้ง 80 คนโครงการได้มีความพยายามพูดคุยเจรจาแล้วแต่ไม่เป็นผล มูลค่าความเสียหายขณะนี้ประเมินค่าไม่ได้

ขณะที่ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จะเร่งรัดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดเพื่อให้เกิดความเสียหายกับเจ้าของโครงการและผู้เสียหายที่มาร้องให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ จะมีการนำเรื่องดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป.