นายแสน ศรีงาม ผู้ตรวจราชการกรมประมง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์การทำประมง บริเวณอ่าวกระบี่หลังสิ้นสุดระยะเวลาของการประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูมีไข่วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายนที่ผ่านมา พบปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น


นายแสน กล่าวว่า กรมประมงให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพประมงที่มั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องชาวประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน หรือ ที่เรียกว่า “มาตรการปิดอ่าว” ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกรมประมง ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี  โดยมีการปรับปรุงมาตรการเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะของทรัพยากรสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่ออนุรักษ์พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ พร้อมสืบพันธุ์วางไข่ มีไข่ รวมทั้งอนุรักษ์สัตว์น้ำวัยอ่อนให้เจริญเติบโตเป็นสัตว์รุ่นใหม่ให้ชาวประมงได้จับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมาตรการปิดอ่าว มีทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

 
โดยการนำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้สื่อมวลชนได้เห็นวิถีการทำประมง อาทิ เรืออวนล้อมจับ (อวนดำ) การใช้เรือปั่นไฟล่อสัตว์น้ำเพื่อให้เข้ามาติดอวนประมง และเรืออวนลาก เป็นต้น ซึ่งปีที่ผ่านมาทั้งเรือประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านมีปริมาณผลการจับสัตว์น้ำอยู่ที่ 388,022 ตันต่อปี และมีปริมาณการจับได้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะผลการจับปลาทู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ ในปี 2564 พบว่ามีปริมาณ 12,267 ตัน และจากการติดตามเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่อนุญาตให้ทำประมงในพื้นที่มาตรการฯ ได้ เช่น อวนกุ้ง และอวนปู พบว่ามีการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในขนาดที่เหมาะสม และในปี 2565 นี้ มีแนวโน้มที่ดีทั้งขนาดและปริมาณของสัตว์น้ำ จึงแสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามันมีความเหมาะสม กรมประมงมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน เป็นกลไกหนึ่งในการอนุรักษ์และพื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำโดยอาศัยความตระหนักและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำที่ คุ้มค่าและยั่งยืน สุดท้ายกรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน และเกิดดวามมั่นคงในการประกอบอาชีพประมงต่อไป