เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฟนเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความสถานการณ์โรคโควิด-19 เชื้อโอมิครอน และสายพันธุ์ย่อยที่พบใหม่ในประเทศไทย ระบุว่า “พบโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 แล้ว 1 รายในประเทศไทยที่จังหวัดตรัง

คำถามที่ตามมาซึ่งประชาชนอยากทราบคือ BA.2.75 มีอัตราการแพร่ระบาด (transmissibility) อาการรุนแรงของโรค (severity) รวมทั้งการรักษาเมื่อติดเชื้อ (treatment) เหมือนหรือต่างจากไวรัสโคโรนา 2019 ที่ระบาดมาก่อนหน้านี้ ปรับปรุง 20/7/2565 เวลา 12.30 BA.2.75 จากผู้ติดเชื้อ 1 รายที่จังหวัดตรัง

  • เก็บตัวอย่างโดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565
  • กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและ upload ขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 (ภาพ1)

ข้อมูลจาก GISAID, Nextstrain,  และ covSPECTRUM  ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก กว่า 12 ล้านตัวอย่าง พบว่า

  • BA.2.75 จากตรังมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ประมาณ 90 ตำแหน่ง รหัสพันธุกรรมคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในอินเดีย (ภาพ2)
  • พบ BA.2.75 อุบัติขึ้นครั้งแรกในอินเดียในราวต้นเดือนมิถุนายน 2565 ขณะนี้มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์สามารถเก็บตัวอย่างนำมาถอดรหัสพันธุกรรมได้จำนวน 338 ราย จาก 10 รัฐในอินเดียและอีก 14 ประเทศ รวมถึงญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (19/ก.ค./2565)

-BA.2.75 หลบภูมิเก่ง ดื้อวัคซีน ดื้อยา หรือไม่?

I)ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ

BA.2.75 กลายพันธุ์ไปถึง 100 ตำแหน่ง คาดว่าจะหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ก่อนได้ดี และดื้อต่อวัคซีนที่เตรียมจากไวรัสอู่ฮั่นดั้งเดิม โดยควรเลือกใช้ยาแอนติบอดีสังเคราะห์ (monoclonal antibody) ให้สอดคล้องกับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ผู้ป่วยติดเชื้ออยู่

II) ข้อมูลจากสถานการณ์จริง (real world data)

-เป็นที่น่าสังเกตว่าการระบาดของ BA.2.75 ในประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาเป็นการระบาดที่ไม่ยาวนาน ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลงใกล้สู่สภาวะปกติ (ภาพ 3) อาจสืบเนื่องมาจากในอินเดียมีการระบาดใหญ่ของ BA.2 มาก่อน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอาจทำให้การระบาดของ BA.2.75 ซึ่งกลายพันธุ์มาจาก BA.2 ไม่ขยายวงกว้าง (ภาพ3) ประเทศไทยเองก็มีการระบาดใหญ่ของ BA.2 มาก่อนเช่นเดียวกัน (ภาพ4)

ประเทศสิงคโปร์ เพิ่งพบผู้ติดเชื้อ BA.2.75 สองรายแรกเดินทางกลับมาจากประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2565 ได้แยกกักตัวเอง ไม่มีอาการใดๆ หายเอง กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์แถลงกับประชาชนว่ายังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในขณะนี้ที่แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อ BA.2.75 มีอาการที่รุนแรง (virulence or severity) แตกต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1, BA.2 ที่ระบาดมาก่อนหน้านี้

ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศแอฟริกาใต้ ศ.ทูลิโอ เดอ โอลิเวรา (Tulio de Oliveira) ผู้อำนวยการศูนย์การตอบสนองและนวัตกรรมการแพร่ระบาด (CERI) ในแอฟริกาใต้สรุปตรงกับนักวิจัยและกรมควบคมโรคในอินเดียและสิงคโปร์ว่า BA.2.75 ไม่น่าจะแพร่ระบาดรุนแรงและเป็นอันตรายเหมือน อัลฟา และเดลตา เนื่องจากในอินเดียจำนวนผู้ติดเชื้อ BA.2.75 รายใหม่และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นน้อยมาก ตรงกันข้ามการแพร่ระบาดกลับมีแนวโน้มลดลงจนใกล้ยุติ”..

ขอบคุณภาพประกอบ : Center for Medical Genomics