เรียกได้ว่ากำลังเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ และต่างพากันเฝ้าระวังอยู่ในขณะนี้ สำหรับการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง Mokeypox ซึ่งตอนนี้ทาง WHO ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) แล้ว และในประเทศไทยก็พบชาวต่างชาติที่ป่วยเป็นโรคฝีดาษลิง ทำให้หลายคนกังวลเกี่ยวกับติดเชื้อดังกล่าวนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยาไบโอเทค-สวทช. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า “ข้อมูลนี้บอกว่า การตรวจหาไวรัสฝีดาษลิงอาจใช้ตัวอย่างจากการ swab คอ เหมือนที่เก็บตัวอย่างตรวจโควิดได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ผื่น หรือ ตุ่มขึ้นที่ผิวหนังแล้วค่อยเก็บตัวอย่างไปทำ PCR ตรวจ ตัวอย่างจากคอ (หรือจากน้ำลาย?) สามารถให้ผลบวกก่อนที่จะมีอาการทางผิวหนัง ซึ่งจะเป็นการลดโอกาสการแพร่เชื้อในสภาวะที่ไวรัสมีอยู่เป็นจำนวนมากได้อย่างดี”

นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า “ไวรัสฝีดาษลิง ไม่ได้แพร่ผ่านทางเพศสัมพันธ์ แต่การติดเชื้อสามารถเกิดได้หลายช่องทาง หลักๆ คือ 1. การสัมผัสโดยตรงกับตุ่มแผล หรือ สารคัดหลั่งที่มีไวรัสอยู่ 2. การรับเชื้อจากละอองฝอย จากการคุยกันกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย หรือ จากกิจกรรมที่อยู่ใกล้ชิดกันมากๆ เช่น การกอดกัน จูบกัน หรือ ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

3. ผ่านการสัมผัสสิ่งของ หรือ วัตถุ ที่มีการเจือปนของไวรัสที่ผู้ป่วยไปสัมผัสมา เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า หรือ โทรศัพท์มือถือ 4. รับเชื้อผ่านจากแม่สู่ลูกในครรภ์ผ่านทางรก 5. รับจากสัตว์ที่ติดเชื้อ ความเสี่ยงจากการติดเชื้อเกิดขึ้นมากกว่ากิจกรรมทางเพศตามที่หลายคนอาจเข้าใจผิดกันไปนะครับ”..

ขอบคุณภาพประกอบ : Anan Jongkaewwattana