นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ว่า จากการที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้จับมือร่วมกันเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ผลผลิต 400,000 ตัน ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp board ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ได้แก่ กรมประมง และกรมการค้าภายใน ผู้แทนผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล รวม 21 ท่าน ร่วมกันวางแผนเพื่อบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 ประเทศไทยมีผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงรวมทั้งสิ้น 138,733.18 ตัน จำแนกเป็นกุ้งขาวแวนนาไม 129,100.44 ตัน (ร้อยละ 93.06) และกุ้งกุลาดำ 9,632.74 ตัน (ร้อยละ 6.94) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค. 64) ผลผลิตลดลงร้อยละ 3.09 ซึ่งถึงแม้ว่ากรมประมงจะมีนโยบายในการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล และลงพื้นที่ดูแลพี่น้องเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แต่การขาดความเชื่อมั่นด้านราคาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไม่ปล่อยกุ้งลงเลี้ยงอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลในภาพรวมลดลง ดังนั้น เพื่อรักษาตลาดและผู้ประกอบการส่งออกสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ Shrimp Board จึงมีข้อตกลงร่วมกันในการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ-ขายขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งทะเลภายในประเทศไว้ โดยเริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ผลการดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไม่ประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยในปี 2565 Shrimp Board กำหนดแผนการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์ และสาธารณรัฐอินเดีย ปริมาณรวม 10,501 ตัน ทั้งนี้ตั้งแต่มีการอนุญาตให้นำเข้าฯ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำเข้ากุ้งขาวฯ จากสาธารณรัฐเอกวาดอร์ ในเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 41.95 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10.24 ล้านบาท แต่ยังไม่พบการนำเข้ากุ้งขาวฯ จากสาธารณรัฐอินเดีย ถึงแม้ว่ากรมประมงจะมีการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์ และสาธารณรัฐอินเดียได้

ด้านนายผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการที่สมาชิกสมาคมฯ ต้องมีการนำเข้าสินค้ามาผลิตและแปรรูปส่งออกเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมกุ้งของไทยโดยรวม ดังนี้ สมาชิกสมาคมฯ ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออก โดยรวมคือ ผู้ซื้อกุ้งรายใหญ่ของประเทศ ในช่วงที่ประเทศไทยมีผลผลิตปีละประมาณ 500,000-600,000 ตัน โรงงานแปรรูปจะซื้อกุ้งคิดเป็นร้อยละ 85 ของผลผลิตกุ้งทั้งหมด เหลือบริโภคในประเทศร้อยละ 15 ปัจจุบันเกษตรกรผลิตได้ 270,000 ตัน โดยมีการห้ามนำเข้าตลอดมา โรงงานจำเป็นต้องปิดตัวลงเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ ในช่วงเวลาเดียวกัน เกษตรกรในต่างประเทศมีการเลี้ยงกุ้งมากขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน เอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ผลิตกุ้งได้รวมกันประมาณ 2,700,000 ตัน คือ 10 เท่าของประเทศไทย ทำให้ราคาอ้างอิงในตลาดโลกเปลี่ยนจาก “ราคามหาชัย” ไปเป็น ราคาเอกวาดอร์ และอินเดีย ที่เลี้ยงได้โดยต้นทุนต่ำกว่าไทย ลูกค้าใช้ราคาอ้างอิงนี้ในการเจรจาสั่งซื้อ ทำให้ไทยไม่สามารถอ้างราคากุ้งในประเทศได้เหมือนเมื่อก่อน แม้มีลูกค้าที่สามารถจัดซื้อกุ้งวัตถุดิบมาส่งให้ไทยแปรรูปได้ในราคาต่ำกว่ากุ้งไทยก็จะติดขัดเรื่องการห้ามนำเข้า จึงย้ายไปสั่งซื้อจากแหล่งอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนาม ที่ขยายกิจกรรมแปรรูปโดยอาศัยวัตถุดิบกุ้งนำเข้าทั้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย ขณะที่การเลี้ยงกุ้งในประเทศได้ผลผลิตสูงต่ำตามฤดูกาล แต่โรงงานจำเป็นต้องมีงานทำสม่ำเสมอไม่สามารถปรับเพิ่มหรือลดกำลังผลิตให้สอดคล้องกับผลผลิตกุ้งจากบ่อเลี้ยงได้ การนำเข้าจะสามารถช่วยให้โรงงานที่ยังเหลืออยู่มีงานทำต่อเนื่อง ลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถซื้อกุ้งในประเทศได้ในราคาที่เกษตรกรไม่ขาดทุน เมื่อไทยสามารถซื้อกุ้งในตลาดโลกได้ จะช่วยพยุงราคาอ้างอิงไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป ลดส่วนต่างระหว่างราคากุ้งในประเทศกับในตลาดโลก และส่งผลให้ซื้อกุ้งในประเทศได้มากขึ้นด้วย

สมาชิกสมาคมที่ยังเน้นการแปรรูปกุ้งเพื่อส่งออก ได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรและกรมประมงในการศึกษาระดับความพอดีของปริมาณกุ้งนำเข้าที่จะไม่กระทบกับผลผลิตในประเทศ โดยเน้นการนำวัตถุดิบมาใช้ในช่วงที่กุ้งไทยมีผลผลิตต่ำ ตามฤดูกาล สมาชิกที่นำเข้ากุ้งมีพันธกรณีที่จะซื้อกุ้งในประเทศในราคาตามที่ตกลงกันใน Shrimp Board กุ้งที่นำเข้าต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่กรมประมงกำหนด ซึ่งผ่านการศึกษาอย่างรอบคอบว่าจะไม่มีโอกาสแพร่เชื้อโรคสู่บ่อเลี้ยงอย่างแน่นอน โดยควบคุมตั้งแต่ต้นทาง คือ เอกวาดอร์ และอินเดีย ตรวจเชื้อเมื่อเข้าถึงประเทศไทย และควบคุมให้ผลิตเพื่อส่งออกทั้งหมด สมาชิกสมาคมฯ ทำตามมติของ Shrimp Board รับซื้อกุ้งในราคาตามที่ตกลงกันใน Shrimp Board กับตัวแทนเกษตรกร โดยมีกรมประมงเป็นองค์กรควบคุม รับซื้อมาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน และจะขยายระยะเวลาไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้ราคากุ้งในประเทศมีเสถียรภาพ สร้างความเข้มแข็งทั้งในภาคผู้เลี้ยงและโรงงานแปรรูป ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมโดยรวมฟื้นฟูและอยู่รอดได้ต่อไป