เมื่อวันที่ 15 ส.ค. เวลา 11.00 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ยื่นหนังสือถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ประกอบมาตรา 264 ในวันที่ 24 ส.ค.นี้หรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งก่อนมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่หลังวันที่ 23 ส.ค. นี้ เวลา 24.00 น. เป็นต้นไป เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายเกิดขึ้นภายหลัง

นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า การที่ตนมายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้สิทธิในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่เป็นตัวแทนประชาชน โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 213 เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อไป หลังวันที่ 24 ส.ค. จะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิประชาชน ละเมิดสิทธิผู้แทนราษฎร ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ และใช้คำร้องนี้เป็นต้นเรื่องในการวินิจฉัยได้เลย เพื่อให้สามารถสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนวันที่ 24 ส.ค.ได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง

ตนอยากเรียนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ว่าท่านต้องพอได้แล้ว เพราะประชาชนคนไทยประเทศไทยให้โอกาสท่านมาแล้วถึง 8 ปี ดังนั้นหลังวันที่ 24 ส.ค. ท่านให้เวลาประชาชนไทยบ้าง ให้โอกาสประเทศไทยได้มีผู้นำที่มีความสามารถดีกว่านี้ อย่าผูกขาดอำนาจ คนเรามีขึ้นก็มีลงอย่าไปยึดติด ทั้งนี้หากอยากจะให้สง่างามควรประกาสลาออกจาตำแหน่งนายกฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎร ก่อนวันที่ 24 ส.ค. เพื่อไม่ให้มีปัญหาความขัดแย้ง เพราะหากท่านอยู่ต่อจะมีความขัดแย้งในบ้านเมืองจะเกิดขึ้น ท่านอาจจะต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเหมือนประธานาธิบดีศรีลังกา ทั้งนี้รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนแล้ว ท่านจะมาทำลายหลักนิติธรรมของบ้านเมืองไม่ได้ ท่านไม่ต้องทำลายสถิติการดำรงตำแหน่ง แต่ถึงเวลาแล้วที่ท่านจะต้องออกจากตำแหน่งอย่าให้ประชาชนต้องออกมาขับไล่


เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีการยุบสภาก่อนวันที่ 24 ส.ค. นี้ นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า สมมุติถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อยากใช้ช่องว่างเทคนิคทางกฎหมายอยู่รักษาการในตำแหน่งนายกฯ ก็สามารถทำได้ก่อนวันที่ 23 ส.ค. แต่หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนจะไม่สามารถยุบสภาได้ แต่ต้องอย่าลืมว่าสภาไม่ได้มีปัญหาอะไร แม้ท่านจะมีอำนาจยุบสภา แต่ต้องถามว่ามันสมควรไหม ดังนั้นหากท่านยุบสภา คนอาจจะเกลียดท่านมากกว่าเดิม ซึ่งวันนี้ก็ไปไหนมาไหนด้วยตัวคนเดียวไม่ได้แล้ว ต้องใช้กำลังอารักขา 2-3 พันคน ดังนั้นท่านอยู่ไปไม่เกิดประโยชน์กับใคร อยู่ไปก็เปลืองภาษี อยู่ไปก็แก้ปัญหาอะไรให้ใครไม่ได้ แต่หากท่านลาออกดีๆ ประชาชนจะไม่เกลียดท่านไปมากกว่านี้ ท่านอย่ายึดติดว่าถ้าไม่มีท่านบ้านเมืองจะไปไม่ได้ประชาชนจะตายกันหมด แต่ตนมองว่าหากท่านลาออก ประชาชนจะมีความหวัง อาจจะกู้ยืมเงินมาฉลองกันทั่วประเทศ เชื่อว่านายกฯ ลาออกวันไหน หุ้นขึ้นทุกตัว ความเชื่อมั่นของต่างชาติจะดีขึ้นอย่างนอน

เมื่อถามว่าหากวันที่ 24 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ในตำแหน่งจะส่งผลอย่างไร นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อน ซึ่งตนเชื่อว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน จะมองเรื่องความอยู่รอดของบ้านเมือง มองหลักกฎหมายหลักรัฐศาสตร์ เชื่อว่าท่านมีดุลพินิจตัดสินใจฝ่าทางตันของบ้านเมือง อย่างไรก็ตามอยากให้ศาลวินิจฉัยเร็วๆ ภายใน 15 วัน เพื่อให้จบไปเลย แล้วจะได้สรรหานายกฯตามมาตรา 159 จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ หรือหากศาลวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อได้เราก็ต้องเคารพคำวินิจฉัย แต่ในหลักรัฐศาสตร์แล้วประชาชนส่วนใหญ่จะโอเคด้วยหรือไม่ เพราะกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่กฎหมายจารีตประเพณี มันเขียนไว้ค่อนข้างครอบคลุมแล้วว่าครบ 8 ปีแล้ว

ทางด้าน นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวในเรื่องเดียวกันว่าจะจบแค่ 8 ปี เนื่องจากบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ว่าจะมาด้วยวิธีการใด แต่รัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดไว้ว่าห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ซึ่งเจตนารมณ์ของการห้ามมิให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ นั่งอยู่ในตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ สาระสำคัญเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดการใช้อำนาจ

พล.อ.ประยุทธ์ รู้ถึงกฎเกณฑ์ กติกา การห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี มาตั้งแต่ชั้นยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะผู้ยกร่างทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการคัดสรรมาเอง ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 จะเห็นได้ว่า การห้ามดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี เป็นบทบัญญัติเด็ดขาดที่กำหนดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ด้วยระยะเวลาการครองตำแหน่ง โดยไม่คำนึงว่าบุคคลผู้นั้น จะเข้ามาดำรงตำแหน่งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใด หรือมาครองตำแหน่งด้วยวิธีการใด หากวิธีการนั้น อยู่ภายใต้การปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บุคคลผู้ครองตำแหน่งนายกฯ ที่มาจากโปรดเกล้าฯ ย่อมอยู่ภายใต้เงื่อนเวลาการครองตำแหน่ง 8 ปี

“หาก พล.อ.ประยุทธ์ รู้จักพอ ไม่เสพติดในอำนาจ เคารพในหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริงแล้ว ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามระเวลาที่กฎหมายกำหนดได้เอง โดยไม่ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด อันจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดี และประกาศให้ประชาชนชาวไทยรู้ว่า คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยเป็นผู้นำการปฏิวัติรัฐประหาร ในหัวใจลึกๆ ก็ยังเคารพการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเช่นกัน” นายสุพจน์ กล่าว.