เมื่อไม่นานมานี้โยมคนหนึ่งมาปรึกษาเรื่องความรัก ซึ่งอันที่จริงหลายคนอาจจะนึกแปลกใจว่า ทำไมมีปัญหาเรื่องความรักต้องมาปรึกษาพระ ความจริงแล้วในสังคมไทยของเรา เวลาคนมีความทุกข์ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม คนไทยมักจะปรึกษาบุคคล 2 กลุ่มโดยเฉพาะเรื่องความรัก คือ “พระ” กับ “หมอ” แต่หมอที่ว่านี้ “หมอดู” นะ

เคยตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เหมือนกันว่า ทำไมต้องเป็น “พระ” กับ “หมอดู” ถามไปเรื่อยๆ จึงได้คำตอบว่า การที่คนมีความทุกข์ชอบปรึกษาปัญหาชีวิตกับ “พระ” และ “หมอดู” ก็เพราะ “พระ” และ “หมอดู” คอยรับฟังปัญหาของเขา โดยไม่ค่อยได้โต้แย้งอะไร เหมือนกับว่าคนที่มาปรึกษา เขาได้ระบายความทุกข์ โดยที่มีคนรับฟัง เขาก็คงรู้สึกดีขึ้นบ้าง เราก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากฟัง แล้วก็ให้ข้อคิด คำแนะนำ และทางออกไปบ้าง ไม่รู้ว่าทางออกที่แนะนำไป มันออกได้หรือเปล่า หรือว่าจะตีบตันมากกว่าเดิม นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม “พระ” กับ “หมอ (ดู)” จึงได้รับเกียรติให้เป็นที่ปรึกษาและระบายปัญหาชีวิตของคนที่มีความทุกข์

มาเข้าเรื่องของเราเลยดีกว่า โยมที่มาปรึกษาคนนี้ก็คงเป็นประเภทเดียวกันกับคนที่มีความทุกข์อีกหลายคนที่หันมาพึ่ง “พระ” กับ “หมอดู” เรื่องที่ปรึกษาก็ประมาณว่า “ทำไมความรักที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นครั้งไหน ครั้งที่เท่าไหร่ ทำไมมันช่างสั้นเหลือเกินหลวงพี่” ก็เลยตอบไปว่า “มนุษย์ผู้ครองเรือนทุกคนที่เกิดมาบนโลกแห่งมายาคติใบนี้ ย่อมมีความปรารถนาต่อความรักไม่ต่างกัน คือ อยากมีความสุข อยู่กับคนรักไปนานๆ ไม่อยากพลัดพรากจากคนรัก แต่ในความจริงของชีวิต การพลัดพรากจากของรักและคนรัก ย่อมเป็นความจริงแท้แน่นอน ที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ แค่จะเกิดขึ้นกับเราช่วงวัน และเวลาไหนของชีวิตเท่านั้นเอง”

ด้วยเหตุนี้เอง นักปราชญ์ผู้เข้าใจในความต้องการของมนุษย์ จึงหาวิธีที่จะทำให้ความรักของมนุษย์นั้น เป็นความรักที่เข้าใจ ไว้ใจ และวางใจซึ่งกันและกัน แม้วันหนึ่งหากเราจะต้องพลัดพรากจากคนรักของเราตามความจริงที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตก็ตาม แต่ในขณะที่ทุกคนยังมีความรัก ยังปรารถนาความรัก และยังอยากอยู่กับคนที่เรารัก เราจะมีวิธีการที่จะรักษาความรักที่เรามีอยู่ รักษาคนรักที่เรายังรักอยู่ ให้อยู่กับเราอย่างยืดยาว และมีความสุข ตามปรารถนาได้อย่างไร

พูดมาถึงตรงนี้ โยมขยับเข้ามาใกล้ๆ พร้อมกับทำท่ากระซิบกระซาบว่า “แล้ววิธีที่ว่านี้ต้องทำยังไงบ้างครับหลวงพี่” โยมเป็นผู้ครองเรือน โยมจะมีชีวิตความรักที่เป็นสุขได้ ด้วยหลักคิด 5 ข้อ คือ “อดทนเหมือนอูฐ…ไม่พูดเหมือนลา…ซื่อสัตย์เหมือนหมา…แกล้งโง่เหมือนควาย…ลืมง่ายเหมือนปลาทอง” 

โยมทำหน้างงๆ พร้อมกล่าวถ้อยคำอันน่าฟังว่า “หลวงพี่บอกใหม่อีกรอบได้ไหมครับ ผมลืมแล้ว” แหม..โยมนี่ ลืมง่ายเหมือนปลาทองจริงๆ

……………………………………….

คอลัมน์ : ลานธรรม

โดย : พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสังข์กระจายวรวิหาร รองประธานเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี