เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 8 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงที่ประชุม ศบค.รับทราบกรอบแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ตามห้วงเวลา มีรายละเอียดดังนี้ เดือน ส.ค.ยังคงสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย ศบค. มีบทบาท, เดือน ก.ย. คงสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ปรับโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดย ศบค.และคณะกรรมการโรคติดต่อชาติ มีบาทบาท

เดือน ต.ค. ประกาศโควิดเป็นโรคระบาดเฉพาะพื้นที่เมื่อมีเหตุการณ์จำเป็น โดยบทบาทของ ศบค.จะลดลงเปลี่ยนมาให้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการโรคติดต่อชาติคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ จะเข้ามามีบทบาทนำไปสู่การทำงาน, เดือน พ.ย.-ธ.ค. ประกาศโรคระบาดเฉพาะพื้นที่เมื่อมีเหตุการณ์จำเป็น โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ มีบทบาท ส่วนการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จะมีการประเมินสถานการณ์ไปจนถึงเดือน ก.ย.

นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยว่าที่ประชุม ศบค.รับทราบความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีน โควิด-19 ในประเทศ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีชื่อว่า “Chula-Cov19” เป็นวัคซีน mRNA สัญชาติไทย ซึ่งจะได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนภายในปี 2567 ส่วนวัคซีนขององค์การเภสัชกรรมที่มีชื่อว่า “NDV-HXP-S” รอขึ้นทะเบียนภายในปี 2566 ซึ่งถือเป็นข่าวดีของประเทศไทย ที่น่าชื่นชมในฝีมือนักวิทยาศาสตร์ไทย

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่าที่ประชุม ศบค.เห็นชอบขยายระยะเวลาพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มรายได้การท่องเที่ยวดังนี้ 1.ขยายระยะเวลาพำนักสำหรับผู้ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราในการเข้าประเทศ (ผ.30) ทั้งที่ไทยให้แต่ฝ่ายเดียว และที่มีความตกลงระหว่างกัน จากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน (ผ.45) และ 2.ขยายระยะเวลาพำนักสำหรับผู้ได้รับ Visa on Arrival จากไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน และ 3.การขยายระยะเวลาพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรข้างต้น ให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.65 ถึง 31 มี.ค.66 พร้อมทั้งมอบหมายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการตามมติ ศบค. ต่อไป.