นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ผู้ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างผลกำไรที่สูงในเวลาที่รวดเร็ว โดยบัญชีของผู้ลงทุนในคริปโตฯ มากกว่าครึ่ง หรือมากกว่า 50% เป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี โดย 3% เป็นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และ 47% เป็นบัญชีลงทุนของผู้ที่มีอายุ 21-30 ปี ซึ่งการศึกษาของ ม.มหิดล พบว่า สาเหตุที่คนเจนแซด สนใจลงทุนในคริปโตฯ เพราะต้องการรวยเร็ว แม้ว่าทัศนคติความต้องการผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้น อาจทำให้หลายคนกลายเป็นเศรษฐีในเวลารวดเร็ว แต่อีกด้านหนึ่ง ผู้ลงทุนในคริปโตฯ อาจเกิดความสูญเสียมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดได้ในระยะเวลาอันสั้นเช่นกัน

นอกจากนี้จากรายงานการศึกษาพฤติกรรมการลงทุนในบิตคอยน์ พบว่า ผู้ลงทุนที่ศึกษาความเสี่ยงและผลตอบแทนก่อนการลงทุนอย่างละเอียดมีเพียง 25.45% เท่านั้น ขณะที่มีนักลงทุนที่มีการศึกษาเกี่ยวกับคริปโตฯ ค่อนข้างน้อยและไม่มีการศึกษา มีสัดส่วน 19.59% และ 6.43% ตามลำดับ สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องถอดรหัสความคิดพิชิตใจคนชอบเสี่ยง ของ ม.มหิดล พบว่า ผู้ลงทุนในตลาดคริปโตฯ มากกว่า 44.8% ยังไม่มีความรู้ความ เข้าใจในการลงทุนประเภทนี้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุน้อย ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดได้สูง

ขณะเดียวกันผลสำรวจความสนใจสินทรัพย์ดิจิทัลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. พบว่า แม้นักลงทุนส่วนใหญ่ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค เช่น วิเคราะห์กราฟ 41% ติดตามข่าวสารจากช่องทางต่าง ๆ 26% แต่ยังมีนักลงทุนอีก 25% ที่ใช้สัญชาตญาณในการลงทุน ซึ่งจากงานวิจัยของเดลแฟบโบร และคณะ ปี 64 ที่ศึกษาจิตวิทยาของการซื้อขายคริปโตฯ ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกัน พบว่า การใช้สัญชาตญาณทำให้ผู้ลงทุน รู้สึกเหมือนเล่นการพนันออนไลน์ และคิดไปเองได้ว่าสามารถควบคุมผลตอบแทนจากการลงทุนได้ เพราะความสามารถและกลยุทธ์ของตนเอง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเสียหายในการตัดสินใจลงทุนได้เช่นกัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเดือน ก.พ. 65 มีจำนวนบัญชีซื้อขาย คริปโตเคอร์เรนซี 2.5 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 10 เท่าจากปี 63 ที่มีจำนวนเพียง 1.7 แสนบัญชี และจากรายงานของ ก.ล.ต. ในปี 64 ไทยมีมูลค่าการซื้อ-ขายคริปโตฯ เฉลี่ยประมาณ 1.4 แสนล้านบาทต่อเดือน โดยการเพิ่มขึ้นชี้ให้เห็นว่าคนไทยให้ความสนใจ ในคริปโตฯ มากขึ้น โดยในปี 64-65 มูลค่าของคริปโตฯ ในตลาดปรับตัวลดลง อย่างมาก จากมูลค่าสูงที่สุด 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน พ.ย. 64 เหลือเพียง 8.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน มิ.ย. 65 สาเหตุมาจากความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจและการเมือง ในระดับโลก และความไม่เชื่อมั่นในตลาดคริปโตฯ จากเหตุการณ์การล่มสลายของเหรียญลูน่า และแพลตฟอร์มการซื้อคริปโตฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักลงทุน.