เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.สำนักการโยธา กทม. กล่าวถึงกรณีปรากฏภาพพื้นบริเวณชั้นที่ 1 ของอาคารที่ทำการ สน.หัวหมาก และสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหัวหมากทรุดตัวว่า จากการตรวจสอบพบอาคารที่เกิดเหตุเป็นอาคาร ค.ส.ล.3 ชั้น ก่อสร้างมานานกว่า 50 ปี ซึ่งจุดที่เกิดเหตุพื้นทรุดเป็นพื้นชั้นล่างอยู่ด้านหลังอาคาร มีการปรับปรุงเพื่อใช้เป็นห้องจราจร และได้เปิดใช้งานเมื่อปี 2564 โดยพื้นที่ที่เกิดการทรุดตัวไม่มีคานรองรับ เป็นการก่อสร้างเเบบ Slab on ground เทพื้นซ้อนกัน 2 ชั้น ทั้งพื้นเก่าและพื้นใหม่ จึงเป็นสาเหตุให้พื้นเสื่อมสภาพไม่สามารถรับน้ำหนักได้และทรุดตัวลงมา ส่วนตัวโครงสร้างของอาคารหลักยังอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง

อย่างไรก็ตาม ได้ประสานสำนักงานเขตบางกะปิ ให้แจ้ง สน.หัวหมาก ห้ามใช้และห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นพื้นที่อันตรายและให้เร่งตรวจสอบอาคาร พร้อมทั้งรายงานผลการตรวจสอบอาคารให้ทราบ เพื่อจะได้เร่งปรับปรุงแก้ไข นอกจากนั้น ยังแนะนำเจ้าของอาคารงดใช้พื้นที่ที่เกิดการทรุดตัว รวมถึงบริเวณโดยรอบ เช่น ห้องทำงานที่อยู่บริเวณด้านข้างโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้อาคาร และป้องกันพื้นเกิดการทรุดตัวเพิ่มเติม 

ด้านนายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตบางกะปิได้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธามาตรวจสอบสภาพอาคารแล้ว โดยโครงสร้างหลักของสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหัวหมาก ยังสามารถใช้งานได้ ส่วนพื้นที่ภายในอาคารและบริเวณโดยรอบทรุดตัวและมีรอยแตกร้าว 

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติงานให้มากขึ้น รวมทั้งขณะนี้อยู่ระหว่างประสานสำนักการโยธาและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เข้าตรวจสอบโครงสร้างทั้งหมดอย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่มาใช้บริการและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในสถานที่ดังกล่าว 

ขณะที่ นายนพ ชูสอน ผอ.เขตบางกะปิ กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตบางกะปิ ได้ทำหนังสือประสาน สน.หัวหมาก ห้ามใช้และห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นพื้นที่อันตรายและให้เร่งตรวจสอบความมั่นคงอาคารโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงประสานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหัวหมากให้ระมัดระวังการใช้งานบริเวณพื้นชั้นที่ 1 ของอาคารสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหัวหมาก เนื่องจากเป็นอาคารเดียวกันและมีโครงสร้างอาคารติดต่อกับ สน.หัวหมาก พร้อมทั้งให้ตรวจสอบความมั่นคงอาคาร โดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนให้คำแนะนำ สน.หัวหมาก ห้ามใช้พื้นที่ที่ทรุดตัวและบริเวณโดยรอบ เช่น ห้องทำงานที่อยู่บริเวณด้านข้างโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้อาคารและป้องกันมิให้พื้นที่ทรุดตัวเพิ่มเติม.