เมื่อวันที่ 29 ส.ค. นายพิสิฐ เส็งกิ่ง นายกสมาคมมัคคุเทศก์จังหวัดพังงา ลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกพร้าว หมู่ 4 บ้านทุ่งขมิ้น ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยระหว่างนั้นได้ประสบเหตุ นักท่องเที่ยวลื่นพลัดน้ำตกต่อหน้าต่อตา จึงประสานเจ้าหน้าที่งานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลคึกคัก ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพังงา ตำรวจภูธรเขาหลัก เจ้าหน้าที่ชุดกู้ภัยคึกคัก แพทย์และพยาบาล ศูนย์การแพทย์เขาหลัก เร่งเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแต่เนื่องจากน้ำตกพร้าวยังไม่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ การเดินทางเข้าไปเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้รถโฟล์วีลเท่านั้นที่จะเข้าไปได้ โดยเมื่อไปถึงพบ Mrs. Cornelia Pieternella อายุ 52 ปี ชาวเนเธอร์แลนด์ สภาพนอนบาดเจ็บอยู่ที่โขดหินด้านหน้าของน้ำตกบริเวณชั้น 3 ของน้ำตกพร้าว ขยับตัวไม่ได้ โดยมีเพื่อนนักท่องเที่ยวคอยให้กำลังใจอยู่ข้างๆ

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตรวจดูอาการพบว่ากระดูกตั้งแต่สะโพกไปจนถึงขาขวาผิดรูปทำให้ไม่สามารถขยับตัวได้ เจ้าหน้าที่ศูนย์การแพทย์เขาหลัก จึงได้ฉีดยาระงับปวดพร้อมให้น้ำเกลือ แต่ผู้บาดเจ็บไม่สามารถขยับตัวได้ อีกทั้งยังเคลื่อนย้ายลงมาข้างล่างไม่ได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่สูงชันและลื่น เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา จึงประเมินสถานการณ์วางแผนเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ โดยใช้ Cable way ลำเลียงผู้บาดเจ็บออกมาอย่างทุลักทุเลโดยได้ทำการนำเชือกมาผูกติดกับต้นไม้ใหญ่เพื่อทำเป็นเคเบิล จากนั้นได้นำผู้บาดเจ็บใส่เปลสเกตแล้วโรยตัวลงมาใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง อย่างยากลำบากเพราะต้องแข่งกับเวลาเนื่องจากสภาพอากาศที่มืดครึ้มและฝนกำลังจะตกลงมาได้ตลอดเวลา

นายพิสิฐ เส็งกิ่ง นายกสมาคมมัคคุเทศก์ กล่าวว่า วันนี้ตนมีโอกาสขึ้นมาสำรวจน้ำตกเพื่อทำสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของพังงา ก็ได้มาเจอนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่เดินขึ้นไปแล้วเกิดลื่นล้มพลัดตกจากนั้นตกความสูงประมาณ 60 เมตร บาดเจ็บต่อหน้าต่อตา ตนตอนนั้นยอมรับว่าก็ตกใจเหมือนกัน จึงรีบประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาเร่งช่วยเหลือนักท่องเที่ยวรายนี้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการนำตัวผู้บาดเจ็บส่งศูนย์การแพทย์เขาหลักเพื่อทำการรักษาต่อไป

นายอภิศักดิ์ ภาษี ครูฝึกป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา กล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคคือนักท่องเที่ยวรู้สึกตื่นกลัวกับอาการบาดเจ็บจนทำให้ทีมช่วยเหลือไม่สามารถเคลื่อนย้ายใส่เปลตัวแรกได้ ทางเราจึงวางแผนใช้สเกตห่อเปลอีกชั้นหนึ่งและทำการแพคผู้บาดเจ็บ และใช้วิธีการลำเลียงผู้บาดเจ็บโดย Cable Way เพราะเราไม่สามารถลำเลียงในระบบทดรอกเชือกได้เพราะพื้นที่มีอุปสรรค เราใช้วิธีการลำเลียงมาสองครั้ง โดยชั้นที่นักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุสูงประมาณ 40 เมตร ส่วนชั้นสุดท้ายที่นำตัวนักท่องเที่ยวลงมาอยู่ที่ 60-70 เมตร.