ท่ามกลางความพลุกพล่านจอแจของถนนอ่อนนุช ทางหลวงมอเตอร์เวย์ และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ มีวัดเล็กๆวัด ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางต้นไม้เขียวครึ้ม ห่างจากทางรถไฟสายตะวันออกสถานีบ้านทับช้างไปไม่ไกลนัก เป็นเขตแดนอันสงบของ ”วัดคุณแม่จันทร์” หากไม่สังเกตป้าย ก็คงไม่รู้ว่าหลังพุ่มไม้ที่มีทางเดินทอดไปนั้นมีวัดตั้งอยู่

เมื่อเดินข้ามทางรถไฟไปตามทางเลียบคลองทางเข้าวัดมีศาลาพักขนาดย่อมเป็นด่านแรก เมื่อเข้ามาจะรู้สึกเย็น จากต้นไม้เล็กใหญ่แผ่กิ่งก้านใบจนแสงแดงแทบไม่ทะลุลงมาบนพื้นทาง ความเงียบสงบที่ได้ยินเพียงเสียงใบไม้และเสียงแมลงเหมือนเดินอยู่ตามท้องไร่ท้องสวน ด้วยมองไม่เห็นโบสถ์ วิหารวิบวับ หรือรูปหล่อพระพุทธรูปหรือพระเกจิอาจารย์องค์ใหญ่ตระการตา

ความเรียบง่ายและกลมกลืนกับธรรมชาติภายในวัดที่สร้างห้องสวดมนต์ ชื่อว่า “วิริยะธรรมคูหา” เป็นอาคารที่ซ่อนตัวอยู่ในภูเขาจำลองขนาดย่อมด้านในเป็นห้องกว้างขนาดกำลังพอเหมาะจุคนได้ประมาณ 50 คนติดเครื่องปรับอากาศ มีเบาะรองนั่งที่ญาติโยมหยิบไปปูรองและจัดเก็บเข้าที่เองเมื่อใช้เสร็จ มีพระประธานองค์สีขาวตั้งเด่นอยู่หน้าต้นโพธิ์ปูนปั้นลายนูนต่ำฝีมือครูช่างศิลปะในพื้นที่ จากภูเขาจำลอง ก็จะเป็นศาลาขนาดใหญ่ หรือ “หอฉัน” ที่ใช้ปฎิบัติศาสนกิจต่างๆ รวมทั้งเป็นจุดที่ญาติโยมจะมาทำบุญหรือมาถวายภัตตาหาร ศาลากว้างขวาง มีเพียงองค์พระประธานสีทองที่มองเห็นเด่นเป็นสง่า ไม่มีตู้บริจาคใดๆตั้งวางอยู่ พื้นที่ด้านในเป็นสวนต้นไม้ลำต้นสูงเรียงรายตลอดทางเดิน มีสระน้ำขนาดย่อม ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างศาลากลางน้ำเล็กๆสุดทางเดินเป็นศาลาการเปรียญหลังเก่า ที่นานๆครั้งจะเปิดใช้ในงานต้อนรับญาติโยมจำนวนมาก เช่น งานทอดกฐิน หรือใช้ในพิธีการของสงฆ์

นอกจากนั้นก็จะมีกุฎิหลังย่อมๆ ของพระภิกษุสงฆ์ที่จำวัดอยู่ที่นี่ คุณธนวัฒน์ เชิดชูกิจกุล อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (กทม.)เขตประเวศ กล่าวว่า แต่เดิมบริเวณนี้เป็นพื้นที่สวนผลไม้ในอดีตต้องอาศัยการสัญจรทางเรือเป็นหลัก ซึ่งญาติโยมภายนอกจะมาที่วัดนี้ต้องขึ้นเรือโดยสารที่ท่าริมคลองประเวศถนนพัฒนาการและที่ข้างสน.ประเวศเท่านั้น จนเมื่อมีการตัดถนนมอเตอร์เวย์ช่วงปี2536 จึงสามารถเดินทางมาโดยรถใช้ถนนเลียบมอเตอร์เวย์ ซึ่งวัดคุณแม่จันทร์เป็นวัดป่าที่เงียบสงบมีประชาชนในพื้นที่และนอกพื้นที่เขตประเวศเดินทางมาทำบุญกันอย่างต่อเนื่อง

“ พระครูกิตตินันทคุณ” ( กิตติ รังรักษ์รัตนาการ ) ท่านเจ้าอาวาสวัดคุณแม่จันทร์ ซึ่งจำพรรษาที่วัดนี้มาตั้งแต่ครั้งท่านพระอาจารย์มหาถาวร เจ้าอาวาสรูปแรกที่มาบุกเบิกพัฒนาพื้นที่นี้ตามบัญชาของพระเดชพระคุณพระธรรมดิลก (วิชมัย ปุญฺญาราโม) เจ้าคณะกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ซึ่งได้รับมอบหมายมาจากสมเด็จพระญาณสังวร ให้ดำเนินการ

ท่านเจ้าอาวาสบอกเล่าว่า ที่ดินแปลงนี้เคยเป็นวัดคุณแม่จันทร์ผู้สร้างวัดไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ต่อมาได้ร้างไปและมีชาวบ้านมาจับจองทำสวน ต่อมาคุณระเบียบ ใจเก่ง ซึ่งเป็นหลานคุณย่าจันทร์ ได้ทำหนังสือกราบเรียนไปยังสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ขอให้ท่านเมตตาดำเนินการให้เป็นวัดที่สมบูรณ์  เมื่อได้สืบค้นจนได้โฉนดวัดมาจึงขอยกวันร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2531 โดยพระอาจารย์ฯได้วางแนวทางพัฒนาวัดมาโดยลำดับ ซึ่งเริ่มแรกเป็นสถานที่เรียนพระปริยัติธรรมของของพระภิกษุสามเณร ซึ่งบางช่วงมีพระและเณรเรียนถึง100 รูป จนถึงปี 2540ก็มีการย้ายสำนักเรียนไปยังวัดอื่น ที่เป็นวัดในความอุปถัมภ์ของพระอาจารย์มหาถาวรเช่นกัน

สำหรับความตั้งใจที่คงความเป็นธรรมชาติภายในวัด นั้น พระครูกิตตินันทคุณ กล่าวว่า “ความสะอาด สงบ และมีระเบียบเป็น3สิ่งหลักที่เป็นพื้นฐานของคน การแนะนำให้คนเข้าใจในหลักธรรมนั้นอาจจะทำได้ยาก แต่อาตมาคิดว่า หากวัดเป็นพื้นที่ที่สงบ สะอาด มีระเบียบ คนที่เข้าวัดก็จะสัมผัสได้ ถึงความร่มเย็น ในจิตใจ โดยไม่ต้องสอนมาก ไม่ต้องเทศน์มาก ธรรมะนั้นเป็นกระแส เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ ดูอย่างปลา ทำไมปลาสวายมาอยู่หน้าวัดจำนวนมาก ทำไมปลาถึงรู้ว่าอยู่ตรงนี้ได้ปลอดภัย นั่นก็เพราะธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ เป็นเหมือนคลื่น ที่แผ่เข้าไปถึงจิตใจ

ปัจจุบันพื้นที่วัด 9 ไร่เศษ มีต้นไม้กว่า 70เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ไม่ต้องมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมอีก เพียงแต่ช่วยกันดูแลเรื่องความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย อะไรที่พังเสียหายก็บูรณะ ในวัดมีธรรมชาติมากกว่าสิ่งก่อสร้าง จึงดูแลได้ง่ายกว่าวัดที่มีสิ่งปลูกสร้างมาก  ใบไม้ร่วงเราก็กวาด ปัดลงไปที่ดิน คืนสู่ธรรมชาติไป ถ้าทุกวัดในกรุงเทพฯสามารถจัดพื้นที่ครึ่งหนึ่งของวัดให้เป็นต้นไม้เป็นธรรมชาติได้ ก็จะทำให้คนเข้าวัดรู้สึกสงบได้ส่วนหนึ่ง เพราะทุกวันนี้เข้าวัดก็จะมีแต่ควันธูป พื้นที่อาจจะไม่ค่อยสะอาด มีสุนัข แมว อากาศร้อนไม่มีร่มเงาต้นไม้ เมื่อเป็นเช่นนี้ตรงไหนคือความร่มเย็น ที่วัดนี้ไม่มีตู้รับบริจาค พระไม่รับปัจจัยเป็นของตนเอง ใครมาทำบุญก็เป็นของวัดทั้งหมด เมื่อพระไม่มีเงิน ก็ไม่ต้องไปเดินซื้อของ ทำในกิจของสงฆ์ บิณฑบาตร สวดมนต์ รักษาศีล ความสงบ เรียบง่าย ก็สะท้อนออกมาจากตัวคนที่อยู่ พระอยู่อย่างไร วัดสะท้อนออกมาเป็นเช่นนั้น”

ธรรมชาติที่นับวันจะหายากในเมืองกรุง วัดซึ่งตั่งอยู่ชานเมืองก็ได้รับผลกระทบมลพิษของเมืองเช่นกัน จากน้ำเน่าเสียที่ซึ่งจะมีปัญหาเป็นบางช่วงเวลา ซึ่งปัญหาน้ำเน่าเสียนี้ท่านเจ้าอาวาส ก็อยากให้มีหน่วยงานระดับชาติเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ท้ายของบทสนทนา พระครูกิตตินันทคุณ ได้กล่าวถึงคนไทยกับพุทธศาสนา ว่า หลักของศาสนาพุทธ นั้น คือ สอนให้ทำความดี ละความไม่ดี ทำจิตใจให้ผ่องใส การทำดีก็คือไม่สร้างความเดือดร้อนของตนเอง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ตัวเองมีหน้าที่อะไร ก็ทำหน้าที่ให้ดี แล้วทุกอย่างก็จะดี

“ พระ” และ “ วัด” ยังคงเป็นสถาบันที่ผู้คนพึ่งพิงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เราชาวพุทธผู้ดำรงตนอยู่ใต้บวรพระพุทธศาสนา ได้เข้าวัด ฟังธรรม ปฎิบัติธรรมในยามที่โอกาสเอื้ออำนวย “ วัดคุณแม่จันทร์” คงเป็นอีกวัดหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนจะได้มาสัมผัสความร่มรื่น สะอาด สงบ ท่ามกลางความวุ่นวายของเมืองหลวง.


ทีมข่าวกทม . : รายงาน