เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 5 ก.ย. ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย (วิป 3 ฝ่าย) ประกอบด้วย วิปวุฒิสภา วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน ว่า การประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 6 ก.ย.นี้ เมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมจะเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จากนั้น จะเลื่อนระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ 9 ความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งจะควบคุมเวลาให้การพิจารณาแล้วเสร็จก่อนเวลา 12.00 น.

จากนั้นจะเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ฉบับ ซึ่งจากมติ วิป 3 ฝ่าย จะให้เวลาผู้เสนอร่างรวมทั้ง 5 ฉบับ เป็นเวลา 2 ชม. ฝ่ายรัฐบาล 6 ชม. ฝ่ายค้าน 6 ชม. ส.ว. 6 ชม. และประธานในที่ประชุม 1 ชม. คาดว่าการประชุมวันแรกจะพิจารณาจนเลยเวลาเที่ยงคืน จากนั้นวันที่ 7 ก.ย. จะเริ่มประชุมอีกครั้งเวลา 09.00 น. คาดว่าไม่เกิน 19.00 น. จะสามารถโหวตได้ ซึ่งการนับคะแนนจะเป็นแบบขานชื่อรายบุคคล โดยใช้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และในจำนวนนั้นต้องมี ส.ว. 1 ใน 3 ให้ความเห็นชอบด้วย จึงคาดว่าการประชุมจะเสร็จสิ้นก่อนเวลา 22.00 น. ทั้งนี้ ในการประชุมวิป 3 ฝ่าย ตนได้หารือด้วยว่าการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 6-7 ก.ย.นี้ อยากให้ ส.ส. และ ส.ว. ช่วยกันรักษาบรรยากาศให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งทุกคนมีสิทธินำเสนอและชี้แจงได้เต็มที่ด้วยเหตุด้วยผล

เมื่อถามว่า มีความกังวลเรื่องขององค์ประชุมในส่วนของ ส.ว. นายสมชาย กล่าวว่า เป็นความรับผิดชอบของ ส.ว.แต่ละท่านอยู่แล้ว ยังไม่เห็นกระรอกอย่าเพิ่งโก่งหน้าไม้ เพราะเชื่อว่า ส.ว.ก็มีเหตุผล และมีความรับผิดชอบ เมื่อถามย้ำว่า การโหวตของ ส.ว.มีการรอสัญญาณจากผู้ใหญ่บางคนหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่มีผู้ใหญ่ กำนัน อบต.อะไรทั้งนั้น เพราะการโหวตเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีหลายประเด็น มีเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับ ส.ว.ด้วย ดังนั้น แต่ละคนจึงมีเอกสิทธิ์ในการโหวต ไม่มีใครสั่งใครได้ เรื่องดังกล่าวจึงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และเชื่อการประชุมราบรื่น

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 6-7 ก.ย. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ โดยให้ยกเลิกมาตรา 272 ที่กำหนดให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กับคณะ เป็นผู้เสนอว่าส่วนตัวมีความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นองค์ประชุม และยืนยันการลงมติของ ส.ว. เป็นการใช้วิจารณญาณของแต่ละบุคคลซึ่งเคยมีร่างแก้ไขลักษณะนี้แล้ว แต่ละคนก็เคยโหวตไปแล้ว ก็คงเป็นไปทำนองนั้น.