นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี เปิดเผยว่า ในภาวะการเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไออาร์พีซี ได้ตั้งเป้าหมายสู่องค์กร Net Zero Emission ในปี 2060 หรือ ปี 2603 โดยตั้งเป้าสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 หรือ ปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ภายในปี 2030 หรือปี 2573 จากปีฐาน 2018 หรือปี 2561 โดยที่ผ่านมา ไออาร์พีซี มีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปสู่ Net Zero Company ผ่านการดำเนินการด้วยกลยุทธ์ ERA ดังนี้

1.Eco – operation & technology การปรับปรุงกระบวนการผลิตภายในบริษัทฯ ลดการใช้พลังงานผ่านการกำหนดเป้าหมาย โดยใช้ดัชนีชี้วัดการใช้พลังงาน และเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดทดแทน พร้อมทั้งกำลังดำเนินการศึกษาการใช้พลังงานทางเลือก โดยการลงทุนในโครงการ โซลาร์ รูฟท็อป และโครงการ โซลาร์ ฟาร์ม เพื่อใช้สำหรับกระบวนการผลิตในโรงงานต่อไปในอนาคต โดย ไออาร์พีซี ประสบความสำเร็จจากการสร้างสวนโซลาร์ลอยน้ำในบ่อน้ำดิบสำรองของบริษัทฯ บนพื้นที่รวมกว่า 200 ไร่ โดยตั้งเป้าเพิ่มอีก 8 เมกะวัตต์ รวมเป็น 20 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ได้บูรณาการคุณค่าในเชิงการดำเนินธุรกิจที่เสริมความมั่นคงทางด้านพลังงาน และในด้านสิ่งแวดล้อม โดยช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 9,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้บนเกาะเสม็ด ทั้งเกาะ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ และยังมีโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 หรือยูซีเอฟ ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 และเป็นไปตามนโยบายของ ไออาร์พีซี ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นโรงงานสีเขียว โดยคาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2567 รวมถึงการแสวงหาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และธุรกิจใหม่ๆ ที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ

2.Reshape portfolio มุ่งแสวงหานวัตกรรมที่ส่งเสริมธุรกิจคาร์บอนต่ำ ธุรกิจพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ  

3.Absorption and offset โดยได้ดำเนินการร่วมกับกลุ่ม ปตท. 2 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการปลูกป่า เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) หรือ CCS Hub Model โดย CCS เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตได้ในระดับหลายล้านตันต่อปี และนำไปกักเก็บในชั้นธรณีที่มีศักยภาพและเหมาะสมแบบปลอดภัยและถาวร (Permanent Geological Storage) โดยไม่มีการปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้อีก โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อเป็นต้นแบบสำคัญในการขยายผลสู่ระดับประเทศได้ในอนาคต

นอกจากนี้ได้สร้างการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผ่านกลยุทธ์ความยั่งยืน 3C ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน การสร้างคุณค่าเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน และ ไออาร์พีซี ยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ผ่านโครงการ “Decarbonize Thailand Startup Sandbox” เพื่อสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพ ขับเคลื่อนการแสวงหาธุรกิจใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (New S-Curve) เกี่ยวกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจพร้อมมุ่งไปสู่ Net Zero Emission

“ไออาร์พีซี ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว” และเชื่อว่าธุรกิจสามารถเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยยึดหลักการดำเนินการตามพฤติกรรมพึงประสงค์ G3 (จี-ทรี) Good ดี ด้วยใจรับผิดชอบ – Great เก่ง ทันโลกธุรกิจ – Growth to success กล้า เพื่อความสำเร็จ เชื่อมั่นว่า ซีอีโอท่านใหม่ จะสามารถสานต่อ และนำไออาร์พีซี ไปสู่วิสัยทัศน์ได้อย่างแน่นอน ไออาร์พีซี สร้างสิ่งที่ดีเพื่ออนาคต” นายชวลิต กล่าว

ส่วนผลการดำเนินธุรกิจ ไออาร์พีซี อยู่ระหว่างเดิหน้าปิดดีลควบรวม หรือซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจพลาสติกชนิดพิเศษ Specialty ในไทยอย่างน้อย 1 โครงการ ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายจากโครงการดังกล่าวทันที และไออาร์พีซี ได้ตั้งงบลงทุน 5 ปีนี้ (2565-2569) เฉลี่ยปีละ 1-1.2 หมื่นล้านบาท โดยปี 2565 บริษัทวางงบลงทุนค่อนข้างมากอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และการซื้อกิจการ (M&A) ที่ล่าช้า ทำให้การใช้งบลงทุนปีนี้ไม่เข้าเป้า คาดว่าอยู่ที่ 9,000-10,000 ล้านบาท ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 6,000-7,000ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในการลงทุนโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่น และปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5