เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่โรงเรียนกุศลศึกษา วัดชัยพฤกษมาลาฯ เขตตลิ่งชัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวกับเดลินิวส์ ถึงกรณีมีหลายภาคส่วนมีข้อกังวลว่าน้ำอาจจะท่วมกรุงเทพฯ เหมือนปี 2554 ว่า จริงๆ แล้วสถานการณ์น้ำคนละเรื่องกับปี 2554 เพราะตอนนี้สถานการณ์น้ำเหนือเขื่อนยังรับได้อีก โดยกรมชลประทาน ระบุว่า ยังสามารถรับน้ำได้อีกเป็นหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ตอนปี 2554 ถ้าเทียบกันในขณะนี้ จะเหลือพื้นที่รับน้ำได้แค่ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เหนือเขื่อน 4 เขื่อนหลัก ซึ่งยังมีช่องว่างและเรามีบทเรียน โดยมีการทำคันกั้นน้ำรอบกรุงเทพฯ เพิ่มเติม พยายามปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆ และวิธีคิด เพราะสิ่งกังวลคงไม่ใช่ปี 2554 แต่กังวลเรื่องฝนที่ตกหนัก ซึ่งที่ผ่านมาน้ำไม่ได้ท่วมกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ท่วมไม่ถึง 10% ของพื้นที่ ซึ่งจะมีจุดที่ท่วมหนักจริงๆ พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนลำบากจริงๆ อาทิ บางเขน ที่ท่วมซ้ำซาก ดอนเมือง ลาดกระบัง หนองจอก ดังนั้น น้ำท่วมจึงเป็นเฉพาะบางเขตที่อยู่ใกล้คลองที่ระบายไม่ทัน หรือพื้นที่ฝนตกหนักเป็นหย่อมๆ ซึ่งเราทำเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาเรามีบทเรียนและจะนำไปปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น 


ขณะที่ นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีหลายภาคส่วนมีความกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมหนักเหมือนปี 2554 ก่อนลงเรือดูการป้องกันและลดผลกระทบป้องกันปัญหาน้ำท่วมชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ โดยยืนยันว่า 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ยังสามารถรับน้ำได้อีก 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร 


แตกต่างกับปี 2554 ที่ในช่วงนี้เหลือเพียง 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ยังสามารถกักเก็บน้ำได้อีกมาก ประกอบกับปริมาณฝนในปีนี้ ถ้าเทียบกับปี 2554 ยังแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และปีนี้ยังไม่มีพายุเข้ามาที่ประเทศไทยเหมือนปี 2554 ที่เข้ามาพร้อมกันหลายลูก ส่งผลให้เขื่อนและพื้นที่รับน้ำไม่เพียงพอและต้องระบายน้ำท้ายเขื่อนจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องเฝ้าระวังในอีก 1 เดือนหลังจากนี้ว่า จะมีพายุเพิ่มหรือไม่ รวมถึงดูน้ำเหนือที่จะมาเติมด้วย


นายธเนศร์ กล่าวด้วยว่า ทางกรมชลประทาน ยังได้ร่วมระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เป็นเขตรอยต่อกับ กทม.ในหลายพื้นที่ เช่น ลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก โดยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจากคลองน้อยลงสู่คลองใหญ่ ซึ่งหลังติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแล้ว ก็ช่วยทำให้ระดับน้ำที่ลาดกระบังลดลงอย่างรวดเร็ว หากช่วง 3-4 วันนี้ฝนไม่ตกมาเติม จะสามารถพร่องน้ำได้ และกรมชลประทาน ยังต้องติดตามเฝ้าระวังพื้นที่ที่อยู่ท้ายเขื่อนอย่างใกล้ชิด โดยจะไปวิเคราะห์สถานการณ์ และการระบายน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ หากปริมาณฝนตกไม่เกินค่าเฉลี่ยสามารถรับมือได้ แต่หากตกเกินก็มีความจำเป็นที่จะต้องระบายออก พร้อมยืนยันว่า กรมชลประทานมีการประสานงานกับ กทม.และพื้นที่รอยต่อปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง.