หลังจากได้ยินโครงการนี้มานานกว่า 10 ปี ในที่สุดกรุงเทพ มหานครก็เตรียมประกวดราคาก่อสร้างเสียทีกับ โครงการทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหล โยธิน หรือถนนสาย ง.1 ตามผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ซึ่งโครงการนี้ได้มีแนวเส้นทางคร่าว ๆ อยู่ในแผนการดำเนินการของ กทม.ในผังเมืองรวมมาหลายปีแต่ก็ยังไม่ได้ความชัดเจนของแนวเส้นทางรวมทั้งการก่อสร้างโครงการถนนตัดใหม่ที่ต้องใช้งบประมาณสูงมากทั้งงบประมาณในการเวนคืนที่ดินของประชาชนและงบประมาณในการก่อสร้าง ทำให้โครงการนี้ใช้เวลายาวนานกว่าจะมาถึงขั้นเตรียมจะประมูลก่อสร้างที่กำหนดขึ้นภายในเดือน ก.ย.นี้

โครงการถนนตัดใหม่สายนี้ แนวเส้นทางที่ศึกษาไว้เดิมคาดว่าจะใช้ทางเข้าออกบริเวณใกล้ร้านเจ้เล้ง หรือปั๊ม ปตท.ก็มีการปรับลงทางใต้โดยมาใช้แนวซอยวิภาวดีรังสิต 72 แทน และก่อนหน้านี้ที่จะมีการออกแบบสะพานเพื่อให้รถที่วิ่งบนถนนตัดใหม่สามารถข้ามถนนวิภาวดีฯ ไปวนลงด้านถนนวิภาวดีฯ ขาออกได้อีกทางหนึ่งด้วยนั้นเมื่อลงพื้นที่และออกแบบเส้นทางแล้วพบว่าแลมป์ยูเทิร์นจะติดปัญหาการใช้ที่ดินของกรมทางหลวง จึงทำได้เพียงถนนพื้นราบหยุดที่ปากซอยวิภาวดีฯ 72 เท่านั้น

สำหรับแนวเส้นทางตัดใหม่มีดังนี้ เริ่มจากปากซอยวิภาวดีรังสิต 72 วิ่งไปตามซอยตรงไปจนถึงคลองถนน (คลองลาดพร้าว) แล้วเลี้ยวเลาะเลียบคลองไปตามทิศตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นไปประมาณ 500 เมตร จากนั้นก่อสร้างสะพานข้ามคลองถนนวิ่งมาตามแนวซอยพหลโยธินตรงข้ามจุดตัดถนนเทพรักษ์ รวมระยะทางทั้งสิ้น 2.8 กิโลเมตร โดยในแนวเส้นทางตัดใหม่นี้ยังมีถนนแยกเพื่อตรงเข้าสู่สนามบินดอนเมือง โดยก่อสร้างเป็นสะพานยกระดับขนาด 1 ช่องจราจรสำหรับรถที่วิ่งเข้าสนามบินและถนนพื้นราบสำหรับรถที่วิ่งออกจากสนามบินมายังถนนตัดใหม่ โดยด้านปลายของถนนที่บรรจบกับถนนพหลโยธินจะปรับให้จากเดิมที่เป็น 3 แยก บรรจบกับถนนเทพรักษ์กลายเป็น 4 แยก โดยด้านบนจะมีสะพานยกระดับข้ามแยกขนาด 4 ช่องจราจร อำนวยความสะดวกให้รถที่ต้องการวิ่งทางตรงไม่ต้องรอติดไฟแดง ซึ่ง กทม.ได้ประสานกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้ขยับระดับรถไฟฟ้าที่ผ่านแยกดังกล่าวให้สูงขึ้นเพื่อรองรับระดับของสะพานข้ามแยกของ กทม. ในบริเวณนี้สำหรับพื้นที่เขตทางตลอดแนวถนนตัดใหม่จะมีความกว้างประมาณ 30 เมตร มีผิวการจราจร  5–6 ช่องจราจร โดยตัวเส้นทางหลักจะสามารถสัญจรได้อย่างน้อย 4 ช่องจราจร และขยายเพิ่มช่องบริเวณจุดคอสะพานและปากทางแยกบรรจบถนนวิภาวดีฯ และถนนพหลโยธิน

ทั้งนี้เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างรวดเร็ว กทม.โดยสำนักการโยธาได้แบ่งช่วงการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 จากปากทางวิภาวดีฯ 72 ไปจนถึงสะพานข้ามคลองลาดพร้าว การก่อสร้างประกอบด้วยสร้างผิวจราจรพร้อมทางเท้า ทางจักรยาน ระยะทาง 920 เมตร สร้างสะพานยกระดับ 1 ช่องจราจร พร้อมถนนเชื่อมต่อเข้าสนามบินและทางเท้าระยะทาง 300 เมตร ก่อสร้างถนนขนาด 3 ช่องจราจรและสะพานเลียบคลองลาดพร้าวขนาด 3 ช่อง พร้อมทางเท้า ทางจักรยานระยะทาง 630 เมตร พร้อมงานก่อสร้างระบบระบายน้ำระบบไฟฟ้า แสงสว่างและอุปกรณ์ความปลอดภัยการจราจร ส่วนการก่อสร้างในช่วงที่ 2 คือ เริ่มจากสะพานข้ามคลองลาดพร้าวถึงถนนเทพรักษ์ ประกอบด้วย การก่อสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรพร้อมทางเท้าระยะทาง 1 กม. ก่อสร้างสะพานข้ามคลองลาดพร้าว 2 แห่ง และก่อสร้างถนนระดับพื้นราบพร้อมทางเท้า ระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และอุปกรณ์ความปลอดภัยการจราจร โดยคาดว่า จะเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคาอี บิดดิ้ง ประมาณเดือน ก.ย.นี้ กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 720 วัน ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 1,800 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในการก่อสร้างตลอดโครงการต้องมีการเวนคืนที่ดิน ประกอบด้วย การก่อสร้างในช่วงที่ 1 เวนคืนรวม 12 แปลง ขณะนี้เวนคืนแล้ว 2 แปลง ขอใช้ที่ราชพัสดุ 1 แปลง ส่วนที่เหลือ 9 แปลงอยู่ระหว่างทำความตกลง ส่วนในช่วงที่ 2 มีที่ดินที่จะต้องเวนคืนรวม 45 แปลง เวนคืนเสร็จแล้ว 23 แปลง ส่วนที่เหลือ 22 แปลง อยู่ระหว่างทำความตกลง ซึ่งทางกองจัดกรรมสิทธิ์ของสำนักการโยธาคาดว่า จะดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาได้ตามกำหนด โดยใช้งบประมาณเวนคืนรวม 2,000 ล้านบาทโดยหากดำเนินเป็นไปตามแผนจะเปิดให้ใช้เส้นทางใหม่ได้ประมาณปลายปี 2564

ก็น่าดีใจแทนชาวกรุงเทพฯ ฝั่งเหนือที่ในช่วง 2 ปีมานี้ต้องผจญกับวิกฤติการจราจรที่นอกจากปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นทุกปีแล้วยังเป็นปัญหาหนักทับถมมากขึ้นเพราะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่เดินหน้าก่อสร้างไปพร้อม ๆ กันทั้งสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต บนถนนพหลโยธิน สายสีชมพูบนถนนรามอินทรา สายสีแดงบนถนนโลคัลโรดเลียบวิภาวดีรังสิต

การเพิ่มโครงการเส้นทางการจราจรทำให้ประชาชนที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้รถเป็นพาหนะหลักได้มีทางเลือกได้มากขึ้นและยังเป็นการพัฒนาโครงข่ายถนนเข้าสู่สนามบินดอนเมืองที่จะขยายพื้นที่รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย.

…………………………
พัชรินทร์ ธรรมรส / รายงาน