จากกรณี ที่ “วิว อาร์สยาม” นักร้องชื่อดัง ได้โพสต์รูปภาพอาการหน้าบวมแดงพร้อมระบุว่า “แพ้อาหาร หรือ แพ้สารฟอร์มาลีน แช่อาหารให้สดใหม่ จากพ่อค้าแม่ค้าที่เห็นแก่ตัว อยากจะให้ของตัวเองดูสดดูใช้งานได้ตลอดเวลาแต่คุณไม่คิดเลยว่าผู้บริโภคที่จะต้องได้รับผลกระทบมันจะเลวร้ายกับเขามากขนาดไหน จะทำอะไรฝากให้มีสติกันนิดนึง คุณทำขายเราเป็นคนกินมันต้องเริ่มจากคุณ ของดีของอร่อยมันสดได้เองไม่ต้องดองฟอร์มาลีนหรอกควรเห็นใจลูกค้าที่เข้ามาซื้อคุณกินนี้เท่ากับว่าคุณได้ให้ยาพิษเขาปางตาย”

วันนี้ (9 ก.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ฟอร์มาลีน เป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง อยู่ในรูปของสารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ ในทางการแพทย์จะใช้ในการดองศพไม่ให้เน่าเปื่อย ใช้ฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อรา และทำความสะอาดห้องผู้ป่วย หากเข้าสู่ร่างกายคนที่ยังมีชีวิตจะเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย จึงจัดเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้ในอาหาร ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 หากตรวจพบจะเข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ เมื่อรับสารดังกล่าวเข้าไปจะมีผลกระทบคือระยะเฉียบพลันอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งส่วนนี้อาจเป็นด้วยปัจจัยส่วนบุคคล รวมถึงสารเคมีที่ได้รับด้วย นอกจากนี้ ยังมีอาการระยะสั้น หากสูดเข้าไปจะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักแสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้ ผลต่อระบบผิวหนังคือ ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรง และหากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว ส่วนผลระยะยาวสารฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารประกอบของฟอร์มาลีน เป็นสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย ทั้งนี้ปัจจุบัน ยังไม่มีระบบเฝ้าระวังเฉพาะในคน แต่หากมีรายงานผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน จะมีการสอบสวนโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากการวางระบบ food safety ของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขมีการคุมเข้มแก้ไขปัญหาการปนเปือนสารเคมีในอาหาร เช่น ยาฆ่าแมลง บอแรกซ์ สารฟอกขาว สารฟอร์มาลินในทุกปีอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีการตรวจพบปนเปือนสารฟอร์มาลีนมาก ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น สไบนาง ผ้าขี้ริ้ว ปลาหมึกกรอบ ปลาหมึกสด เป็นต้น ดังนั้น ขอให้ประชาชนพิถีพิถันเลือกบริโภค เลือกแหล่งขาย รู้วิธีการเตรียมอาหาร อาจเลือกบริโภคผักพื้นบ้าน ในกรณีที่ซื้อมาแล้วยังไม่แน่ในว่าอาจมีฟอร์มาลีนติดมาอีก ก็ควรนำผักมาล้างน้ำไหล 5-10 นาที หรือแช่น้ำนิ่งราว 1 ชั่วโมง ซึ่งมีรายงานว่า ฟอร์มาลีนส่วนมากจะถูกชะล้างออกไปหมด