เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ยกคำขอทุเลาการบังคับใช้ประกาศคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล  เรื่องยุบเลิกโครงการรักษาโรคบวมน้ำเหลืองด้วยวิธีภูษาบำบัดและขันชะเนาะ ลงวันที่ 14 ต.ค. 54

ทั้งนี้คดีดังกล่าวเนื่องจากนางสมจิต วัชราเกียรติ พร้อมพวกรวม 33 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคบวมน้ำเหลือง และน.พ.วิชัย เอกทักษิณ แพทย์ผู้รักษาโรคบวมน้ำเหลืองด้วยวิธีภูษาบำบัดและการขันชะเนาะ ยื่นฟ้องคณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศยุบเลิกโครงการดังกล่าวของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล เนื่องจากเห็นว่าการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยบรรเทาโรคบวมน้ำเหลืองให้กับผู้ป่วยได้ โดยระหว่างการพิจารณาคดี ก็ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศ โดยให้ระงับการยกเลิกโครงการไว้ก่อน แต่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งยกคำขอทุเลา นางสมจิตจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ส่วนเหตุที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นระบุว่า คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่ยกคำขอดังกล่าวถือเป็นที่สุดตามข้อ 73 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ส่วนที่นางสมจิตอ้างในชั้นไต่สวนว่า ศาลปกครองชั้นต้นไม่ได้แจ้งให้ตนเองเข้ามาชี้แจงโต้แย้งการนำเสนอของ ม.มหิดลนั้น ศาลฯเห็นว่าในการพิจารณาคำขอของศาลเพื่อมีคำสั่งทุเลาการบังคับฯ ข้อ 71 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบดังกล่าว กำหนดให้ศาลส่งสำเนาคำขอให้คู่กรณีทำคำชี้แจงและแสดงพยานหลักฐาน แล้วนัดไต่สวนคู่กรณีเพื่อมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอดังกล่าว ดังนั้น เมื่อนางสมจิตมิใช่คู่กรณี ศาลจึงไม่จำต้องแจ้งให้นางสมจิตทำคำชี้แจงและแสดงพยานหลักฐาน รวมทั้งนัดไต่สวนเพื่อมีคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด อุทธรณ์ของนางสมจิตจึงฟังไม่ขึ้น.