เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ อาคารประชาอารักษ์ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ พ.ต.อ.มีชัย กำเนิดพรม รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม ผกก.1 บก.ป. ร่วมแถลงผลการจับกุม นายกุณฑล บุณยะจิตติ อายุ 53 ปี นายสาโรจน์ ทาดิน อายุ 27 ปี นายอภิศักดิ์ ชิงรัมย์ อายุ 29 ปี น.ส.นนทกร ชาชุมวงศ์ อายุ 49 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1583-1586/2565 ตามลำดับ ลงวันที่ 8 ส.ค. 65 ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม และทุจริตหลอกลวงโดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ” พร้อมของกลางบัตรเอทีเอ็มและสมุดบัญชีธนาคารต่างๆ รวม 31 รายการ เครื่องคอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง โทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต 8 เครื่อง โดยจับกุมนายกุณฑล นายสาโรจน์ และนายอภิศักดิ์ ได้ในพื้นที่หมู่ 10 ซอยเขาตาโล 9 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ส่วน น.ส.นนทกร ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้แล้วในคดีอื่น ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษพัทยา จ.ชลบุรี

พ.ต.อ.เผด็จ กล่าวว่า สืบเนื่องจากกลุ่มผู้ต้องหาได้ก่อคดีฉ้อโกงประชาชน หลอกลวงว่าสามารถดำเนินการช่วยอนุมัติบัตรเครดิต หรือวงเงินกู้ธนาารให้ได้ โดยผู้ต้องหาจะใช้ภาพโลโก้ธนาคารมาสร้างโปรไฟล์ Facebook, Line จากนั้นได้โฆษณาทางสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงแอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อมีผู้หลงเชื่อ ก็จะทำการปลอมเอกสารให้ผู้เสียหายเพื่อยื่นขอสินเชื่อ เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน สลิปเงินเดือน รายการเดินบัญชีธนาคาร โดยมีค่าดำเนินการทำเอกสารปลอม 2,00-5,000 บาท และส่งมอบเอกสารปลอมให้ผู้เสียหายไปยื่นกับธนาคาร จากนั้นจะคิดค่าใช้จ่ายกับผู้เสียหายเพิ่มอีก 10% ของวงเงินที่ต้องการยื่นกู้ อ้างเป็นค่าวิ่งเต้นในการขออนุมัติวงเงิน

พ.ต.อ.เผด็จ กล่าวต่อว่า เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อและนำเอกสารไปยื่นกับธนาคารแล้ว ผู้ต้องหาจะส่ง SMS ไปให้ผู้เสียหาย ทำทีว่ากำลังจะได้รับอนุมัติวงเงิน โดยข้อความส่งไปจะเป็นภาษาทางการเงินของทางธนาคารต่างๆ เพื่อให้ผู้เสียหายสับสน และหลงเชื่อว่าเป็นข้อความจากธนาคารจริง ก่อนจะหลอกเรียกเก็บเงินเพิ่ม จนกระทั่ง ผู้เสียหายได้รับข้อความ SMS จากธนาคารจริงๆ โดยแจ้งผลว่าไม่อนุมัติสินเชื่อได้ เนื่องจากคุณสมบัติไม่ครบหรือเอกสารไม่เป็นความจริง จึงทราบว่าถูกหลอก ที่ผ่านมามีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก บางรายโอนเงินให้ผู้ต้องหากลุ่มนี้กว่า 300,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท

พ.ต.อ.เผด็จ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบประวัตินายกุณฑล หนึ่งในผู้ต้องหา พบเคยถูกจับด้วยพฤติการณ์เดียวกันมาก่อน เมื่อปี 63 แต่ได้ประกันตัวออกมา ก่อนจะหลบหนีไม่ไปฟังคำพิพากษาของศาล ซึ่งการสืบสวนของกองปราบฯ ทราบว่า นายกุณฑล จะเป็นผู้ทำหน้าที่ปลอมเอกสาร, พูดคุย และ ส่ง SMS หลอกลวง ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ ทำหน้าที่เปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับโอนเงินจากผู้เสียหายและเบิกถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพ จึงคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.