เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากข้อมูลประชากรและการคาดการณ์ประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าอัตราการเพิ่มของสตรีวัยทองจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น ซึ่งเมื่อเข้าสู่วัยทองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง และอาจเกิดอาการต่างๆ จากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทอัตโนมัติ ได้แก่ มีอาการร้อนวูบวาบ และเหงื่อออกในตอนกลางคืน อาการเหล่านี้อาจรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน และถ้าเกิดขึ้นในตอนกลางคืนอาจรบกวนการนอนหลับได้ ทั้งนี้การแก้ปัญหานอนไม่หลับมีหลายวิธี การใช้ยานอนหลับก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ แต่โดยทั่วไปแพทย์จะไม่ค่อยใช้เพราะมีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว อาจทำให้เกิดการดื้อยาจนเกิดความแปรปรวนต่อกลไกการนอนหลับของร่างกาย

นพ.ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับในทางการแพทย์แผนไทย มีการอบไอน้ำสมุนไพรช่วยสตรีวัยทองนอนหลับสบายขึ้น  ซึ่งจากการศึกษาวิจัยการเปรียบเทียบประสิทธิผลการอบไอน้ำสมุนไพรกับการอบไอน้ำต่อคุณภาพการนอนหลับของสตรีวัยทองที่มีปัญหานอนไม่หลับของวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา พบว่า การอบไอน้ำสมุนไพร 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ช่วยให้คุณภาพในการนอนหลับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอนหลับได้ง่ายและเร็วขึ้น ลดการตื่นระหว่างการนอนหลับ และมีผลทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยให้ระบบการไหลเวียนภายในร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันการอบไอน้ำสมุนไพรมีให้บริการในคลินิกการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ

นพ.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า นอกจากกระบวนการอบไอน้ำแล้ว ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพให้นอนหลับช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย คือ ยาหอมเทพจิตร ขนาดและวิธีใช้ รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม  ละลายในน้ำอุ่น ดื่มทุก 3 – 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง ส่วนสมุนไพรที่ช่วยให้นอนหลับสบาย เสริมเป็นเมนูอาหารจากสมุนไพรที่มีรสขมเย็น เช่น ขี้เหล็ก มะระจีน มะระขี้นก สะเดา หากนำมาปรุงเป็นอาหารมื้อเย็น จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการนอนหลับได้ดีมากยิ่งขึ้น.