เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่​ สภาทนายความ​ในพระบรมราชูปถัมภ์​ นาย​ไพรวัลย์ วรรณบุตร หรือ​ “แพรรี่” และทนายเกิดผล แก้วเกิด เข้าพบนายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับมรรยาทของทนายความ หลังถูกใช้ถ้อยคำเหยียดหยาม ผ่านการตอบโต้ในประเด็นไลฟ์สดปะทะวาจากับพระชาตรี เหมพันธ์ เจ้าอาวาสวัดพุทธวิหาร วัดไทยแห่งเดียวในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย

เปิดวาทะเด็ดศึก ‘แพรรี่-ทนายธรรมราช’ ขึ้นกู-มึงเดือดจน ‘กรรชัย’ ยังกุมหัว!

นายไพรวัลย์ หรือแพรรี่ เปิดเผยภายหลังกรณีของตัวเองกับพระชาตรีจบลง นายธรรมราช ได้นำประเด็นข้อโต้งแย้งที่ตัวเองมีต่อพระชาตรี ไปแจ้งความโดยกล่าวหาว่า ตัวเองดูหมิ่นพระชาตรีและคณะสงฆ์ ซึ่งนายธรรมราช ได้โพสต์ข้อความและถ่ายทอดสด เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยถ้อยคำที่กล่าวพาดพิงเสียดสี เรื่องเพศสภาพ แม้จะไม่ได้ระบุชื่อตัวเอง แต่ฟังแล้วเข้าใจได้ว่าหมายถึงใคร ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า ถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อสภาทนายความฯ เพื่อให้สอบสวนมรรยาททนายความต่อนายธรรมราช ทนายความดังกล่าว

ส่วนนายเกิดผล เปิดเผยว่า ตัวเองโพสต์ข้อความถึงประเด็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับการดูหมิ่นคณะสงฆ์ หลังมีประเด็นระหว่างแพรรี่กับนายธรรมราช จากนั้น นายธรรมราชได้โพสต์ตอบโต้กลับ ซึ่งได้ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม โดยใช้อาการเจ็บป่วยของตัวเอง มาเกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการกล่าวเสียดสี เหยียดหยามและซ้ำเติม และไม่ได้มีท่าทีสำนึกต่อการกระทำ เพราะพบว่า ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยกล่าวพาดพิงซ้ำอีก

‘สภาทนายความ’ ขยับตอบดราม่า ทนายเกิดผล-ทนายธรรมราช จะทำอย่างไร?

นายวิเชียร กล่าวว่า หลังรับเรื่องร้องเรียนของทั้ง 2 คน แล้ว จะส่งต่อกรรมการมรรยาททนายให้พิจารณาเรื่องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยปกติไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่ในทางปฏิบัติหากเป็นกรณีกระแสสังคม จะเร่งดำเนินการโดยเร็ว หลังเรียกทนายความผู้ถูกร้องเข้าให้ข้อมูล จะต้องมาพบภายใน 30 วัน สามารถเลื่อนได้แต่ต้องมีเหตุสมควร ส่วนโทษนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ ตักเตือน, ภาคทัณฑ์, พักใบอนุญาต สูงสุด 3 ปี และโทษร้ายแรงที่สุดคือ ลบชื่อออกจากสภาทนายความฯ

นายไพรวัลย์ หรือแพรรี่ กล่าวอีกว่าเรื่องระหว่างตนกับพระชาตรี นั้นถือว่าจบลงแล้ว ไม่ได้มีอะไรที่ค้างคาหรือขัดแย้งกันต่อ เพราะถือว่าได้วิพากษ์วิจารณ์​แสดงความเห็นไปแล้ว แต่กรณีที่นายธรรมราชฟ้องร้องตนนั้น ตนก็จะมีการดำเนินคดีกลับเช่นกัน จะไม่มีการรับคำขอโทษใดๆ จนกว่าทางคดีความจะเสร็จสิ้น ส่วนตัวตนยังมองว่าสิทธิ​ในการวิพากษ์​วิจารณ์​พระพุทธศาสนา​ ยังคงสามารถทำได้ ถ้าพบว่ามีการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม

นายกสภาทนายความฯ ยังระบุว่า ทนายความสามารถแสดงความคิดเห็นประเด็นทางสังคมได้ แต่จะต้องคำนึงถึงความหมิ่นเหม่หรือสุ่มเสี่ยงผิดข้อบังคับ ตามระเบียบของสภาทนายความฯ และต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบหากเป็นความผิด พร้อมยอมรับว่า กฎระเบียบของสภาทนายความฯ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2529 จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเชิงรุกเพื่อปรับมาตรฐาน มรรยาททนายให้เหมาะสมกับยุคสมัย