นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) หรือที่กลุ่มคนรักรถไฟเรียกว่า อุลตร้าแมน ในเส้นทางภาคใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางสุดท้าย เพื่อทดสอบว่าหัวรถจักรฯสามารถวิ่งผ่านโครงสร้างอาคารต่างๆ สะพาน ถ้ำ และอุโมงค์ได้หรือไม่ โดยวันที่ 30 ก.ย.65 จะทดสอบเดินรถเส้นทาง ทุ่งสง-หาดใหญ่ จากนั้นจะเดินรถจากหาดใหญ่กลับกรุงเทพฯ เพื่อสรุปผลทดสอบ และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่วนจะนำหัวรถจักรฯ มาให้บริการประชาชนเมื่อไหร่ และเส้นทางใดนั้น จะประชุมสรุปในเดือน ต.ค.65

นายศิริพงศ์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ได้นำหัวรถจักรฯ ทดสอบในเส้นทางต่างๆ ทั้งใช้ลากจูงขบวนสินค้า และขบวนรถโดยสาร ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาแล้ว อาทิ ลากขบวนรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ วันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.65, วิ่งตัวเปล่าตรวจสภาพเส้นทางไปธนบุรี วันที่ 20 ก.ย.65 และทดสอบลากรถไปนครราชสีมา วันที่ 21-22 ก.ย.65 ล่าสุดทดสอบในพื้นที่ภาคใต้ วันที่ 26 ก.ย.-1 ต.ค.65 เส้นทาง ทุ่งสง-นครศรีธรรมราช, เส้นทาง ทุ่งสง-ตรัง และทุ่งสง-หาดใหญ่ เบื้องต้นผลการทดสอบพบว่า สามารถวิ่งผ่านโครงสร้างต่างๆ ได้อย่างดี พบเพียงปัญหาหัวรถจักรเกี่ยวสายไฟที่บริเวณสถานี ซึ่งโยงข้ามจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง และย้อยห้อยลงมา

นายศิริพงศ์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะประสานส่วนงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการเก็บสายไฟให้เรียบร้อย ทั้งนี้การทดสอบหัวรถจักรฯ ในพื้นที่ภาคใต้ ได้แวะจอด ณ ป้ายหยุดรถสถานีรถไฟพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ ในโอกาสนี้พระครูถาวรพิสิทธิ์ เจ้าอาวาสวัดธาตุน้อย ได้เจิมขบวนรถ เพื่อเป็นสิริมงคลด้วย สำหรับหัวรถจักรฯ ที่ทำการทดสอบ รฟท. มีแผนนำไปเปิดให้บริการขนส่งสินค้า และเดินขบวนรถเชิงพาณิชย์ (รถทางไกล) เส้นทางต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อทดแทนหัวรถจักรเดิมที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน รองรับปริมาณผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าทั่วประเทศต่อไป    

นายศิริพงศ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับรถจักรดีเซลไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ 50 คัน วงเงิน 6,525 ล้านบาท โดย รฟท. รับมอบจากกิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ในระยะ (เฟส) ที่ 1 จำนวน 20 คัน ส่วนที่เหลืออีก 30 คันในเฟสที่ 2 คาดว่าจะส่งมอบให้ รฟท. ได้ปลายปี 65 ทั้งนี้รถจักรดีเซลไฟฟ้าใหม่นี้ จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ รฟท.

นายศิริพงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ รฟท. ได้อบรมพนักงานขับรถไฟ เพื่อเตรียมพร้อมให้บริการหัวรถจักรฯ ใหม่แล้ว ซึ่งเมื่อใดที่ได้ข้อสรุปเรื่องแผนการเปิดให้บริการรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ ให้มีต้นทางและปลายทางจากเดิมที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางบางซื่อ หัวรถจักรฯ ใหม่ชุดนี้ จะเป็นขบวนรถที่พร้อมวิ่งเข้าสถานีกลางบางซื่อด้วย เพราะมีการติดตั้งระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (ATP) แล้ว และยังมีค่ามาตรฐานในการปล่อยควันไอเสียต่ำเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม.