โดยนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ย. เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และะน้ำล้นตลิ่ง รวมแล้วกว่า 20 จังหวัด บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบแล้ว 3,338 ครัวเรือน และปัจจุบันยังมีสถานการณ์น้ำท่วมในอีกหลายจังหวัด จนทำให้ความกังวลว่าสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่จะเกิดขึ้นซ้ำรอยปี 2554 เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองเองก็มีเรื่องให้น่ากังวลไม่แพ้กัน แม้ล่าสุดจะผ่านไปแล้ว สำหรับปมร้อน วาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยชี้ขาดว่า “บิ๊กตู่” ยังไม่ครบ 8 ปี เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 จะต้องนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ดังนั้น “บิ๊กตู่” จึงดำรงตำแหน่ง ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีจึงไม่สิ้นสุดลง

แม้หลังจากนี้ “บิ๊กตู่” จะสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้ เพื่อประคับประคองรัฐนาวาเรือเหล็กเดินต่อในช่วง “โค้งสุดท้ายเกมอำนาจ” ที่เหลืออีกไม่กี่เดือน เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นประธานการประชุมเอเปค แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า เส้นทางอำนาจหลังจากนี้ จะเป็นไปแบบลุ่มๆ ดอนๆ ด้วยเสถียรภาพของรัฐบาลที่เข้าขึ้นสั่นคลอน หลังจากบริบทการเมืองเข้าสู่โหมดเตรียมเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ะพรรค จะต้องห้ำหั่นหาดฟันซึ่งกันและกัน เพื่อแย่งชิงพื้นที่และความได้เปรียบในทางการเมือง ตุนเสบียงกรังเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

นอกจากนั้นสถานการณ์การเมืองทั้งในและนอกสภาก็น่ากังวลเช่นเดียวกัน เนื่องจากงานนี้พรรคฝ่ายค้านยืนกรานมาโดยตลอดว่า “บิ๊กตู่” หมดความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไป จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเดินเกมสร้างแรงเสียดทานต่อรัฐบาลและสร้างแรงกดดันต่อการดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปของ “บิ๊กตู่” เช่นเดียวกันสถานการณ์การเมืองบนท้องถนน ที่เริ่มมีการจุดกระแสโหมแรงไฟจากผลคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อปลุกระดมมวลชนลงถนน ตอบโต้ในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ดังนั้นในห้วงเวลาหลังจากนี้ ก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า จากวาระร้อน 8 ปี จะส่งผลต่ออุณหภูมิทางการเมืองทั้งในและนอกสภาได้มากแค่ไหน ซึ่งถือเป็นช่วงโค้งอันตรายเกมอำนาจ ที่จะต้องจับตามองกันแบบห้ามกะพริบตาเลยก็ว่าได้

โดยไทม์ไลน์การเมืองหลังจากนี้ หากรัฐบาลเรือเหล็กยังประคับประคองตัว ไปถึงฝั่งฝันการเป็นประธานประชุมเอเปคในช่วงเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้ได้สำเร็จ หลังจากนั้นการยุบสภาสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยในทางเทคนิคแล้ว การยุบสภาจะต้องเกิดขึ้นไม่เกินปลายเดือน ม.ค.2566 เพื่ออำนวยความสะดวก ให้ ส.ส.สามารถย้ายพรรคและสังกัดพรรคใหม่ได้ทัน ในกรอบเวลา 90 วันก่อนการเลือกตั้งตามกฎหมายกำหนด ดังนั้นในเชิงเทคนิคการยุบสภาจะต้องเกิดขึ้นประมาณไม่เกินปลายเดือน ม.ค.2566 ก่อนจะครบอายุสภาในวันที่ 24 มี.ค.2566

ถึงแม้จะมีแนวโน้มยุบสภาก่อนครบวาระ ซึ่งจะส่งผลให้กฎเหล็ก 180 วันที่ กกต.ออกมาเตือนพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งผู้ประสงค์สมัครรับเลือกตั้งนั้นสิ้นผลไปโดยปริยาย และจะมีการใช้กฎเหล็กหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้มีการเลือกตั้งแล้วเท่านั้น แต่กฎเหล็ก 180 วันดังกล่าว ก็ทำเอาพรรคการเมืองต่างๆ ขวัญผวา เพราะสุดท้ายปลายทางไม่รู้เลยว่าเกมการเมืองจะพลิกผันไปในทิศทางใด อาจจะเกิดการยบุบสภาก่อนครบวาระ หรือจะดันทุรังอยู่กันจนครบวาระเพื่อให้กติกากฎเหล็ก 180 วัน ยังคงอยู่ ก็ยังไม่มีใครรู้ได้!

นอกจากนั้น กกต. ก็ยังกลายสภาพเป็น “ตำบลกระสุนตก” จากการโจมตีกติกากฎเหล็กหลายจุด ที่ถูกมองได้ว่า เอื้อฝ่ายรัฐบาลมากกว่า เพราะความไม่ชัดเจนของกติกาในบางประเด็นว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ ยังเป็นเรื่องที่คลุมเครือ โดยประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือกรณีการขึ้นป้ายต้อนรับ “บิ๊กป้อม” ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมรูปแนะนำตัว ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคการเมืองหนึ่ง

เรื่องที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่แพ้กัน ก็หนีไม่พ้นกรณี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ออกมาให้ข่าว “ปลุกผีรัฐประหาร” จากการให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเคลื่อนไหวชุมนุมวันที่ 30 ก.ย.ว่า หากไม่พอใจรัฐบาลให้ใจเย็นๆ เพราะจะเลือกตั้งแล้ว หากมีการชุมนุมเคลื่อนไหวมาก ระวังอาจไม่มีเลือกตั้ง อาจเกิดการปฏิวัติจากคนที่มีอำนาจ มีกำลัง ที่ไม่ใช่ 3 ป. แม้สิ่งที่รัฐมนตรีรายดังกล่าวพูดถึง แทบจะพูดได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลยในบริบทการเมืองขณะนี้

การพูดเรื่องปฏิวัติรัฐประหารในเวลานี้ ก็ทำเอาประชาชนหลายคนออกอาการขยาดไม่น้อย จากบทเรียนในเมื่อปี 2557 ซึ่งในทางกลับกัน อาจจะทำให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ความเคลื่อนไหวพรรคการเมืองในขณะนี้ เรียกได้ว่าเป็นไปอย่างคึกคัก ท่ามกลางบรรยากาศการเตรียมตัวสู่ศึกเลือกตั้งกันยกใหญ่ ทั้งการออกแอ๊คชั่นของคนการเมืองสารพัดรูปแบบ การทยอยเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งกันแบบอึกทึก ทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และพรรคการเมืองน้องใหม่

โดยพรรคที่น่าสนใจที่สุดในขณะนี้คือ พรรคเพื่อไทย จากการสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งซ่อม นายก อบจ.ร้อยเอ็ด ผลปรากฏว่า เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ ชนะขาดลอยด้วยคะแนนเสียง 301,187 คะแนน ทิ้งห่างผู้สมัครคนอื่น รวมทั้งผู้สมัครที่มีดีกรีเป็นอดีต นายก อบจ.แบบขาดรอย จากการที่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ลงพื้นที่ปราศรัยช่วยหาเสียง จนถูกมองว่าชัยชนะที่ถล่มทลายที่เกิดขึ้นเป็นแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย

ซึ่งก็สอดรับกับ “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 3/2565” ของ “นิด้าโพล” ที่มีการถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ซึ่งพบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 24.16 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 2 ร้อยละ 21.60 “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 3 ร้อยละ 10.56  พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) และ อันดับ 4 ร้อยละ 10.12 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คืออัตราส่วนคนที่เลือก “บิ๊กตู่” ลดน้อยลงไปทุกครั้ง จากการสำรวจทั้ง 3 ครั้ง เช่นเดียวกับเรตติ้งของ พรรคพลังประชารัฐ

หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้น…เป็นสัญญาณบ่งชี้ทางการเมืองได้ว่า ถึงแม้ “บิ๊กตู่” จะรอดวิกฤติวาระ 8 ปีมาได้ แต่ก็อาจจะร่วงในทางการเมืองและการเลือกตั้ง จากความนิยมทางการเมืองที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด!

ดังนั้นเส้นทางอำนาจของ “บิ๊กตู่” และรัฐบาลเรือเหล็ก ในห้วงเวลาหลังจากนี้ อาจจะเรียกได้ว่าต้องลุ้นระทึก มากยิ่งกว่าการลุ้นผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปมร้อนวาระ 8 ปี หลายเท่าเลยก็ว่าได้.