จากต้นสายปลายเหตุคดียาเสพติด ซึ่งทำให้สังคมตั้งคำถามกลับไปยังรัฐบาลถึงความเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหายาเสพติด รวมทั้งการหาทางป้องกันปัญหาลักษณะนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ขณะเดียวกันก็นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับประชาชนในหลายพื้นที่ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาอุทกภัยจากปริมาณฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่สถานการณ์ในเขื่อนทั่วประเทศหลายแห่งเริ่มน่ากังวล เพราะมีปริมาณน้ำใกล้เต็มความจุระดับน้ำเก็บกัก เขื่อนบางแห่งมีปริมาณน้ำเกินความจุระดับน้ำเก็บกักไปแล้วด้วยสถานการณ์เช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าประชาชนในหลายพื้นที่อาจจะต้องอยู่กับปัญหาน้ำท่วมนานหลายเดือน ซึ่งปัญหาที่น่ากังวลไม่แพ้เรื่องระดับน้ำก็คือความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งเริ่มมีให้เห็นกันแล้วกรณีคนในพื้นที่ถูกน้ำท่วมและคนในพื้นที่ไม่ถูกน้ำท่วม

ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาลที่จะต้องเร่งมือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการประกาศให้ชัดถึงมาตรการเยียวยาคนในพื้นที่น้ำท่วมอย่างไร ให้เหมาะสมกับความเสียสละและความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ ก็ทำให้ได้เห็นภาพการออกแอ๊คชั่นของบรรดา “บิ๊กรัฐบาล” กันอย่างคึกคัก ไล่ตั้งแต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ที่เรียกได้ว่า “ฟิตจัด” หลังกลับมาทำหน้าที่นายกฯอีกครั้ง โดยมีการเดินสายลงพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย ทั้ง จ.ขอนแก่น จ.อุบลราชธานี จ.เพชรบูรณ์ เช่นเดียวกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่เดินลงพื้นที่ถี่ไม่แพ้กันไล่ตั้งแต่ จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.อยุธยา จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี

สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้ถูกมองว่า “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” กำลังแข่งกันลงพื้นที่เพื่อเช็คเรตติ้ง-แข่งบารมีทางการเมืองของ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก” แสดงออกถึงความเป็นผู้นำทางการเมือง ชิงโอกาสการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ทั้งนี้เป็นผลมาจากวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ “บิ๊กตู่” ที่เหลืออีกเพียง 2 ปีเศษเท่านั้น และหดสั้นลงเรื่อยๆในระหว่างที่ยังอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อ จนทำให้คนในพรรคพลังประชารัฐบางคน มองว่าการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯหลังการเลือกตั้ง ควรเสนอชื่อ “บิ๊กป้อม” แทนชื่อ “บิ๊กตู่” ที่จะเป็นนายกฯ ต่อได้ 2 ปี โดยอาจให้ “บิ๊กตู่” สลับไปนั่งเก้าอี้เป็นรองนายกฯ หรือรมว.กลาโหม แทน

จากแอ๊คชั่นของ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก” และมุมมองของคนพรรคพลังประชารัฐ ที่สอดรับกันอย่างมีนัยสำคัญ จนถูกมองว่าอาจจะกลายเป็นรอยร้าวของ “พี่น้อง 3ป.” ระลอกใหม่ ซึ่งสุดท้ายก็จบด้วยการปล่อยภาพ “พี่น้อง 3 ป.” ปิดห้องล้อมวงนั่งจิบกาแฟ เพื่อสยบข่าวรอยร้าวที่เกิดขึ้น

นอกจากนั้นยังมีกระแสข่าว “ป.ที่ 4” โผล่ขึ้นมาในกระดานอำนาจ โดยใครต่อใครต่างก็พูดถึงชื่อ “ป.แป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ซึ่งถูกมองว่าอาจจะเป็นคีย์แมนเติมเต็มช่องว่างเรื่องวาระดำรงตำแหน่งของ “บิ๊กตู่” โดยทำหน้าที่เป็นผู้รับไม้ต่ออำนาจ หรือ “ทายาททางการเมือง” เพื่อให้รัฐบาลสามารถยังสามารถเดินต่อไปได้ ภายหลัง “บิ๊กตู่” ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีเป็นที่เรียบร้อย

แต่หากดูบารมีทางการเมืองแล้ว งานนี้ก็พูดได้เลยว่า “ป.แป๊ะ” ยังไม่สามารถเทียบชั้น “พี่น้อง 3 ป.” ได้ ทั้งการหลุดจากวงจรอำนาจมาเป็นระยะเวลานาน หลังพ้นตำแหน่ง ผบ.ตร. ตั้งแต่ปี 2563 ดังนั้นคงจะต้องใช้เวลาสั่งสมบารมีกันอีกพักใหญ่ ซึ่งโอกาสพิสูจน์ฝีไม้ลายมือทางการเมือง ก็คือการที่พรรคพลังประชารัฐมอบภารกิจให้ไปดูแลพื้นที่ภาคอีสานเหนือ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งก็จะต้องรอดูกันว่าการพิสูจน์ฝีมือของ “ป.แป๊ะ” ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง จะสามารถแผ่บารมีทางการเมืองขึ้นเทียบชั้นระดับตระกูล ป. มาเป็น “ป.ที่ 4” ได้หรือไม่

ทั้งนี้หันมาดูวังวนอำนาจของพรรคร่วมรัฐบาล เริ่มเกิดกระแสเดินเกมปรับ ครม.หนักขึ้น จากความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้หากกางบัญชีดูแล้วมีเก้าอี้ รัฐมนตรีว่างอยู่ 4 ตำแหน่ง คือ รมช.เกษตรและสหกรณ์ รมช.แรงงงาน รมช.ศึกษาธิการ และ รมช.มหาดไทย อย่างไรก็ตามในบริบทตอนนี้ หากเกิดการปรับ ครม.ขึ้น โอกาสที่จำทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในบรรดาพรรคแกนนำรัฐบาลก็มีสูง โดยเฉพาะในส่วนของพรรคพลังประชารัฐที่ยังมีปัญหาภายในคาราคาซังอยู่ อาจจะยิ่งทำให้เกิดอาการระส่ำขึ้นอีกระรอก จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ “บิ๊กตู่” ยังเลือกที่จะเบรกเกมปรับครม.เอาไว้

ส่วนการเคลื่อนไหวพรรคการเมืองต่างๆ ท่ามกลางความคึกคักในการเตรียมการสู้ศึกเลือกตั้ง ไล่ตั้งแต่ พรรคเพื่อไทย ที่ยังคงง่วนอยู่กับการจัดคนลงเป็นผู้สมัคร ส.ส.ในนามพรรค ซึ่งมีปัญหาเขตเลือกตั้งซ้ำซ้อนกัน ทำเอาบางคนต้องบินไกลไปถึงดูไบ พบ “นายใหญ่” จนมีการพูดคุยตกปากรับคำ แต่พอกลับมาถึงเมืองไทยก็ต้องเจอกับเกมพลิก เพราะสุดท้ายไม่ได้ลงเลือกตั้ง หรือได้คำอธิบายว่าให้รอคำตอบก่อน จนกลายเป็นแรงระส่ำภายในพรรคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำเอาคนการเมืองหลายคนเริ่มหันไปมองที่พรรคภูมิใจไทยแทน

โดย พรรคภูมิใจไทย ล่าสุดมีการเปิดตัว Behind The Scenes (บีฮายน์ เดอะ ซีน) ผู้อยู่เบื้องหลัง อย่าง เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ออกมาประกาศตัวชัดเจนกลางงานวันเกิดปีที่ 64 ว่าหากการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่สู้ให้ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข เป็นนายกฯ ก็จะลาออกจากครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย พร้อมตั้งเป้ากวาด ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องได้ ส.ส. 100 เก้าอี้ขึ้นไป ทั้งนี้ หากมองความเคลื่อนไหวของพรรคภูมิใจไทยในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ก็ต้องยอมรับเลยว่าเป้าหมาย 100 ส.ส. ไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ ส.ส. คนการเมือง ทั้งจากพรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาลมากหน้าหลายตาต่างก็หลั่งไหลเข้าพรรคแบบไม่ขาดสาย

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีการตั้งเป้ารวบรวม ส.ส.ให้ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า 70-80 เสียง โดยยังคงหมายมั่นปั้นมือ ที่จะกลับมาปักหลักยึดฐานภาคใต้ไว้ให้ได้

เกมการเมืองการเลือกตั้งหลังจากนี้คงจะต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของทั้ง 2 พรรค ซึ่งน่าจะกลายมาเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ในสมการการเมืองหลังการเลือกตั้ง ในการชี้ชะตาเกมอำนาจว่าท้ายที่สุดแล้วขั้วไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดูพื้นหลังของทั้ง 2 พรรค สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความหลังฝังใจที่ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางลบ กับพรรคเพื่อไทย ทั้งกรณี “ครูใหญ่เนวิน” ที่เคยมีเหตุการณ์หักหาญน้ำใจกับ “โทนี่ วู้ดซัม” ทักษิณ ชินวัตร ไว้เมื่อปี 2551 ที่เป็นต้นกำเนิดวลี “มันจบแล้วครับนาย” ดังนั้นโอกาสที่พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย จะกลับมาจูบปากร่วมงานกันคงเป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการประกาศอย่างชัดเจนว่าหากพรรคเพื่อไทยยังมีเงาของ “โทนี่ วู้ดซัม” อยู่ โอกาสที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลคงเป็นไปได้ยากเช่นกัน

ดังนั้นก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าแต้มในมือของทั้ง 2 พรรคจะไหลไปรวมขั้วอำนาจฝั่งไหน ซึ่งความเป็นไปได้มากที่สุดในบริบทการเมือง ณ เวลานี้ ก็คือการกลับมาจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มขั้วอำนาจเดิม ทั้งนี้ โจทย์การเมืองที่จะต้องลุ้นกันหนัก ก็ต้องอยู่ที่ว่าท้ายที่สุดแล้ว พรรคพลังประชารัฐ จะเคลียร์ปัญหาภายในพรรคก่อนสู้ศึกเลือกตั้งได้หรือไม่ จะสามารถกวาด ส.ส.ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่ ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาทางการเมืองที่ยังดิ่งลงไม่เลิก!.