น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมยกระดับการดูแลระบบเทคโนโลยีของธนาคารพาณิชย์ในเรื่องโมบายแบงก์กิ้งแอพพลิเคชั่น เนื่องจากที่ผ่านมา แอพโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งขัดข้องบ่อย ทำให้ลูกค้าผู้ใช้บริการเกิดความเดือดร้อนและสูญเสียโอกาสหลายอย่าง เช่น ไม่สามารถเข้าใช้งานโอนเงิน ชำระบิล หรือกดเงินออกจากตู้เอทีเอ็มในกรณีไม่มีบัตรเดบิตได้ เป็นต้น คาดว่าต้นปี 66 จะมีแนวทางกำกับที่เข้ามาดูแล โดยศึกษาจากของต่างประเทศด้วยว่าได้ผลอย่างไร

สำหรับแนวทางกำกับดูแลของ ธปท.ในเรื่องโมบายแบงก์กิ้ง จะดูให้มีแนวทางเข้มงวดมากขึ้น เช่น ในเรื่องกรอบระยะเวลาว่าจะล่มได้นานเท่าไรต่อวัน ล่มได้กี่วัน จะมีความรุนแรงของบทลงโทษ หรือแนวทางกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้น จากที่ผ่านมาบทลงโทษของ ธปท.ในเรื่องแอพธนาคารขัดข้องมีทั้งการตักเตือนเริ่มต้น หากยังมีปัญหาขัดข้องอีกจะเป็นเรื่องของการสั่งการให้ดูแลลูกค้า หรือระบบโมบายแบงก์กิ้ง และสุดท้ายคือในเรื่องของการเปรียบเทียบปรับธนาคารที่ระบบโมบายแบงก์กิ้งมีปัญหา ซึ่งจะต้องดูตามระดับความรุนแรง หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามากน้อยแค่ไหน มีการปรับปรุงทันทีหรือไม่

“ที่ผ่านมามีธนาคารแห่งหนึ่งที่แอพโมบายล่ม 2-3 วันติด ทำให้ลูกค้าได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะผู้ที่รับเงินเดือนผ่านบัญชีนั้น และไม่มีบัตรเดบิต ไม่สามารถกดเงินออกมาใช้ได้ จึงได้สั่งการให้ธนาคารแห่งนั้น รีบดูแลลูกค้า และแก้ไขปัญหาโดยด่วน โดยให้ออกบัตรเดบิตฟรีค่าแรกเข้า เพื่อให้ลูกค้าได้มีบัตรกดเงินสดออกมาจากตู้เอทีเอ็มได้ และแนะให้ใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งบนเว็บไซต์แทนไปก่อนได้ด้วย”

รายงานข่าวจาก ธปท. กล่าวว่า สถิติโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องในช่วงครึ่งปีแรกปี 65 แอพธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง 30 ครั้ง มากที่สุดเป็นธนาคารทหารไทยธนชาต 12 ครั้ง ขัดข้องนาน 38 ชั่วโมง, ธนาคารไทยพาณิชย์ 8 ครั้ง นาน 7 ชั่วโมง, ธนาคารกรุงเทพ 3 ครั้ง นาน 22 ชั่วโมง, ธนาคารกรุงไทย 3 ครั้ง นาน 5 ชั่วโมง, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1 ครั้ง 4 ชั่วโมง, ธนาคารกสิกรไทย 1 ครั้ง นานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 1 ครั้งนาน 2 ชั่วโมง และซิตี้แบงก์ 1 ครั้ง นาน 2 ชั่วโมง